ส่องรูโหว่สินบนในวงตำรวจ กินจนเคยเรียกรับจนชิน
เหตุการณ์คนสนิทของกำนันนกคนดัง จ.นครปฐม “ใช้อาวุธปืนยิงสารวัตรตำรวจทางหลวงเสียชีวิต”ภายในงานเลี้ยงบ้านกำนัน ต่อหน้าตำรวจระดับ ผกก. สารวัตร รองสารวัตร และตำรวจชั้นประทวนกว่ายี่สิบนายที่นั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วยกัน อันเป็นการก่อเหตุอุกอาจอย่างไม่เกรงกลัว
ซ้ำร้าย “ตำรวจในที่เกิดเหตุ” กลับปล่อยให้คนร้ายหลบหนี ปล่อยให้มีการทำลายพยานหลักฐาน และทำลายระบบบันทึกวงจรปิดที่เกิดเหตุ จนกลายเป็นเรื่องสะเทือนวงการตำรวจนำไปสู่การออกหมายจับ 6 ตำรวจ ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนทำลายหลักฐาน และช่วยเหลือผู้ต้องหาหลบหนีตามที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่นี้
ในส่วนตำรวจนายอื่นยังอยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสอบวินัย โดยเฉพาะการประพฤติตนไม่สมควรเอื้อต่อกำนันรายนี้อย่างไร? รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการเรียกรับส่วย รับผลประโยชน์ และการเอื้อผู้มีอิทธิพลกระทำผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ เรื่องนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกว่า
สำหรับคดีตำรวจอยู่ระหว่างการสืบสวนคงไม่อาจรู้ข้อมูลเชิงคดีได้ แต่การนัดกินข้าวสังสรรค์ในระหว่างตำรวจและผู้มีอิทธิพล ย่อมเป็นการพบปะทำความรู้จักพูดคุยกันของผู้มีอำนาจกว้างขวางใน จ.นครปฐม ที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างถนนหนทาง และรถบรรทุกดิน เป็นเรื่องธรรมดาคนทำธุรกิจนี้ต้องพึ่งพาอาศัยตำรวจทางหลวง
แน่นอนย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ “ตำรวจมาร่วมสังสรรค์กับผู้ประกอบการเช่นนี้” โดยเฉพาะธุรกิจรถบรรทุกดิน ด้วยตำรวจทางหลวงมีหน้าที่ต้องตรวจตราและควบคุมจับกุมโดยตรง แต่เพราะประเทศไทยหละหลวม ปล่อยให้ข้าราชการสามารถคบหาผู้ที่ต้องทำการตรวจสอบในการประกอบกิจการธุรกิจ ของเขานั้นมานาน
สาเหตุเพราะมักยกข้ออ้างว่า “คบหาเพื่อการหาข่าว” แต่ความจริงแล้วตำรวจเป็นผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย เมื่อเห็นใครทำผิดสามารถจับกุมได้โดยไม่จำเป็นต้องหาข่าวด้วยซ้ำ เช่น กวดขันจับกุมบ่อนการพนัน สถานบันเทิงผิดกฎหมาย หรือรถบรรทุกฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดที่ไม่มีความซับซ้อนอะไรมากมาย
ประการเช่นนี้ กรณี “ตำรวจยศน้อยใหญ่” ออกมาร่วมนั่งกินเลี้ยงอาหารภายในบ้านของบุคคลที่เรียกกันหลังเกิดเหตุยิงตำรวจว่า “ผู้มีอิทธิพล” แล้วในฐานะเป็นตำรวจหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายถือเป็นการกระทำผิดวินัยหรือจริยธรรมตำรวจ อันส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่าเป็นผลเชิงบวก
อย่าลืมว่า “กระบวนการยุติธรรม” ตำรวจมีหน้าที่สำคัญในสารตั้งต้นด้านการสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐาน เสมือนกำหนดสำนวนการฟ้องคดีต่อบทบาทของอัยการ และผลอาจยาวไปถึงคำพิพากษาด้วย
“ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีของฟรีในโลก การเชิญข้าราชการไปนั่งกินเลี้ยง เหล่าผู้ประกอบธุรกิจบางประเภทล้วนคาดหวังสิ่งบางอย่างจากตำแหน่งหน้าที่ไม่มากก็น้อย แล้วถ้าประชาชนเห็นภาพพฤติการณ์ตำรวจนั่งสังสรรค์อยู่บ้านผู้ประกอบการรถบรรทุกแบบนั้น ก็คงไม่มีใครสบายใจหรืออาจไม่เป็นที่ไว้วางใจเกิดขึ้นได้” พ.ต.อ.วิรุตม์ว่า
ถัดมาถ้ามาดู “พ.ร.บ.ตำรวจฯ” มีการกำหนดห้ามไว้มิให้ตำรวจทุกระดับกระทำผิดทางวินัยเกี่ยวกับ “การประพฤติตนไม่สมควรหรือกระทำการอันไม่สมควร” มีโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ กักยาม กักขัง จนถึงโทษไล่ออกปลดออก ส่วนการกระทำใดเป็นการกระทำอันไม่สมควร ต้องขึ้นอยู่ที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจวินิจฉัย
แล้วตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็มักเห็นว่า “การเลี้ยงอาหารตำรวจเป็นเรื่องธรรมดา” เพราะไม่ได้มีบทบัญญัติใดห้ามรับกินฟรีไม่ว่าจากบุคคลอาชีพใด “เหตุนี้การไปนั่งล้อมวงสังสรรค์บ้านกำนันนั้น” จะมาพูดกันภายหลังเกิดเหตุร้ายว่าเข้าข่ายเป็นการทำผิดวินัยก็ไม่ได้ แม้ประชาชนจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ตาม
แต่ว่าการคบหาให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย “ถ้ากางประมวลจริยธรรมตำรวจ พ.ศ.2564” ที่น่าจะเกี่ยวข้องก็มีข้อ 2 ข้าราชการตำรวจพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมต้องซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบแบบแผน สตช.ด้วยความโปร่งใส ไม่แสดงพฤติกรรมมีนัยแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ทั้งกล้าตัดสินใจยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม กล้าคัดค้าน และแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่คบหา หรือให้การสนับสนุนผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล
ม้แต่ผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และต้องวางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม
เช่นนี้แล้ว “ตำรวจ” ที่ไม่สามารถทำงานด้วยกระบวนการทางกฎหมายอันสุจริต “ควรออกจากองค์กรตำรวจ” เพราะด้วยความสุจริตเป็นเหมือนมาตรการป้องกันอาชญากรรมได้ดีที่สุด “คนไม่ดีมักกลัวตำรวจสุจริต” แต่จะวิ่งหาพร้อมยอมจ่าย “คนห้าวหาญมีพฤติกรรมรับผลประโยชน์” กลายเป็นผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของผู้รับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ “นายกรัฐมนตรี” ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้บังคับบัญชา ต้องกวดขันวินัยอย่างเข้มงวด “ด้วยการนำจริยธรรมตำรวจมาบังคับจริงจัง” เพื่อไม่ให้เป็นเพียงกระดาษเท่านั้น
ขณะที่ “ผบ.ตร.” ควรหมั่นตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยเฉพาะ “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคน” มีข่าวลือคนเห็นนั่งสังสรรค์กินข้าวกับผู้ประกอบกิจการธุรกิจ พ่อค้า หรือผู้มีชื่อในทางเสื่อมเสียกันบ่อยด้วยการพิจารณาออกคำสั่งห้ามมอบของขวัญ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ หรืออวยพรช่วงปีใหม่ในเวลาราชการ
หากแต่ต้องการจัด “ควรเป็นการภายในครอบครัว” เพราะที่ผ่านมามีข่าวลือเสมอว่า “วันเกิด ผกก.บางคน” ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องวุ่นวายเตรียมจัดงานกันทั้งโรงพัก ไม่เว้นแต่ผู้ประกอบการ ร้านค้า นักธุรกิจ ต้องวิ่งเข้ามา อวยพร แล้วอย่าลืมว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ผู้มอบให้นั้นมักมีความหวังต่อผลตอบแทนจากอำนาจหน้าที่ทั้งสิ้น
อย่างกรณีง่ายๆ “กำนันนกจัดงานเลี้ยงตำรวจระดับ ผกก. หรือสารวัตรมาร่วมเต็มงาน” แล้วแบบนี้ถามว่า “ตำรวจผู้ปฏิบัติจะมีใครกล้าตรวจจับรถบรรทุกของกำนันหรือไม่..?” เพราะทุกคนรู้ดีว่าถ้าหากตรวจจับอาจต้องมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา ดังนั้นทำให้มีการกระทำผิดกฎหมายบรรทุกน้ำหนักเกินเกิดขึ้น
ประเด็นนี้ทำให้ต้องมี “การปฏิรูปตำรวจ” ปรับโครงสร้างไม่ให้มีชั้นยศ เพราะผู้มียศสูงมักครอบงำสั่งการผู้มียศต่ำได้มากกว่าระบบข้าราชการพลเรือนเป็นระดับแท่งที่ “หัวหน้างาน” ไม่อาจสั่งลงโทษได้เหมือนการมีชั้นยศ
แต่ก็ใช่ว่าจะปรับเปลี่ยนหักหาญทีเดียว ด้วยตอนนี้ใครมียศก็คงไว้ดังเดิม “ผู้บรรจุเข้ารับราชการตำรวจใหม่” ก็ปรับเป็นระบบข้าราชการพลเรือนเหมือนการโอนย้ายกองบังคับการตำรวจดับเพลิงไปยัง กทม.
ตอกย้ำการปฏิรูปตำรวจต้องทำให้ “ตำรวจเป็นเหมือนข้าราชการพลเรือน” มิเช่นนั้นนักเรียนตำรวจจบใหม่แม้มีอุดมการณ์ก็ทำได้เพียงสั้นๆ ก่อนวัฒนธรรมเดิมๆ บีบครอบงำจนต้องไหลตาม เพราะหากใครขวางเส้นทางมักเกิดปัญหา สังเกตง่ายๆ “ตำรวจหลายนายต้านผู้บังคับบัญชา” สุดท้ายต้องแพ้ลาออกจากข้าราชการไป
แน่นอนว่า “การปรับโครงสร้างปฏิรูปตำรวจ” คงไม่อาจนำไปสู่การล้างผู้กระทำผิดวินัย หรือผู้ประพฤติตนไม่ดีให้หมดคราวเดียวได้ แต่ตอนนี้บ้านเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจาก “รัฐบาล” ที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรใช้ช่วงโอกาสนี้ยกเครื่ององค์กรตำรวจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
เริ่มต้นง่ายๆจากสื่อมวลชนเลิกเรียกตำรวจผู้ใหญ่ว่า “บิ๊กเปลี่ยนเป็นคุณ” ก็เป็นการปฏิรูปแล้ว
ย้ำว่า “ตำรวจ” ที่สามารถทำให้คนทำผิดกลัวมากที่สุดคือ “ตำรวจทำงานสุจริต” เพราะความสุจริตนี้จะเป็นพลังอำนาจต่อ “การรักษากฎหมาย” ส่งผลให้คนฝ่าฝืนกระทำผิดน้อยลง…