ข่าวทั่วไป

ฟอสซิลอายุ 265 ล้านปีชี้นักล่าเแห่งอเมริกาใต้

ก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่กำจัดสัตว์ถึง 86% ทั่วโลก มีกลุ่มไดโนเซฟาเลียน (Dinocephalians) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นหนึ่งในกลุ่มหลักของสัตว์บกที่เจริญอย่างกว้างขวางบนบก พวกมันมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีทั้งชนิดกินเนื้อและกินพืชเป็นอาหาร ไดโนเซฟาเลียนมีกระดูกกะโหลกศีรษะหนา สัตว์เหล่านี้เป็นที่รู้จักในแอฟริกาใต้และรัสเซีย แต่หาได้ยากในส่วนอื่นๆของโลก

ล่าสุด มีการวิจัยซากฟอสซิลชื่อ Pampa phoneus biccai อายุ 265 ล้านปี ที่ขุดพบในพื้นที่ชนบทของเขตเซา กาเบรียล ทางตอนใต้ของบราซิล ซากถูกธรรมชาติรักษาไว้อย่างดี ทั้งกะโหลกศีรษะที่สมบูรณ์ กระดูกซี่โครง กระดูกแขน ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มไดโนเซฟาเลียน ทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากห้องปฏิบัติการบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐปัมปา มหา วิทยาลัยสหพันธรัฐรีโอกรันดีโดซูล ในบราซิล และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ เผยว่าการพบกะโหลก Pampaphoneus biccai ชิ้นใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ยากที่จะแยกความแตกต่างจากสายพันธุ์เดียวกันที่พบในรัสเซีย

ซากของ Pampaphoneus biccai ตัวนี้ นับเป็นตัวที่ 2 ที่เคยค้นพบจากอเมริกาใต้ มันมีขนาดใหญ่กว่าซากแรก ซึ่งให้ข้อมูลที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับสัณฐานวิทยาสายพันธุ์นี้ เนื่องจากมีกระดูกถูกรักษาไว้เป็นอย่างดีพิเศษ และการค้นพบนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างชุมชนของระบบนิเวศบนบก ก่อนที่จะเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นักบรรพชีวินวิทยาระบุว่า 40 ล้านปีก่อนที่ไดโนเสาร์จะขึ้นเรืองอำนาจนั้น พวก Pampaphoneus biccai เคยครอบครองดินแดนอเมริกาใต้ ในฐานะนักล่ากินเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด.

 

 

Tags
ซากดึกดำบรรพ์ซากฟอสซิลทันโลกสัตว์เลื้อยคลาด

เรื่องอื่นๆ แนะนำต้องดู

Back to top button