รู้จักอาชีพ “กำนัน” มีคุณสมบัติอย่างไร เงินเดือนเท่าไร
กำนันเป็นตำแหน่งการปกครองระดับตำบล ที่มีรากฐานความผูกพันเชื่อมโยงกับคนในชุมชนมาตั้งแต่ยังคงเป็นระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล สู่การเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ปัจจุบันกำนันเป็นตำแหน่งที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่ง มาดูกันว่าผู้ที่เป็นกำนันนั้น ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
กำนัน คือใคร มีเงินเดือนเท่าไร ถือเป็นข้าราชการไหม
กำนัน เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นคนในชุมชนที่ทำหน้าที่นำนโยบายของรัฐมาใช้กับคนในชุมชน รวมถึงเป็นตัวแทนของท้องที่ นำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ติดต่อกับราชการ เพื่อประโยชน์ของคนในชุมชน โดยมักจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
สำนักราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายของ “กำนัน” ไว้ว่า
กำนัน คือตำแหน่งผู้ปกครองลูกบ้าน สูงกว่าตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า พระธรรมนิเทศทวยหาญ ได้สันนิษฐานว่า คำว่ากำนันน่าจะแผลงมาจากคำว่า “กัน” ซึ่งในอดีต เป็นตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ป้องกันภยันอันตรายให้กับลูกบ้าน ดังนั้นกำนันจึงแปลงว่า ผู้กั้น ผู้บัง หรือผู้ปกครองลูกบ้านนั่นเอง
กำนันในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่คน
กำนันเป็นตำแหน่งผู้ปกครองลูกบ้าน ที่มีมาตั้งแต่สมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2435 ปัจจุบันตำแหน่งกำนัน มีจำนวนเท่ากับตำบล และไม่ได้เป็นตำแหน่งที่เป็นตลอดชีพ มีการเลือกตั้งทุก 5 ปี ข้อมูลจากส่วนบริหารงานกำนันผู้ใหญ่บ้าน สำนักบริหารการปกครองท้องที่ระบุว่า ในประเทศไทยมีอัตรากำลังพลตำแหน่งกำนันทั้งหมด 7,036 คน จากทั้งหมด 7,255 ตำบล ซึ่งบางตำบลไม่มีตำแหน่งกำนันเนื่องจากการเทียบตำบลกับทำเนียบท้องที่ ที่มีลักษณะต้องห้ามแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล
กำนันถือเป็นข้าราชการไหม
กำนันเป็นข้าราชการ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการคัดเลือกตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน พ.ศ. 2551
เมื่อตำแหน่งกำนันว่างลง นายอำเภอต้องเสนอเรื่องให้มีการคัดเลือกกำนันภายใน 45 วัน และหากไม่สามารถคัดเลือกได้ ให้แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอเป็นประธานที่ประชุมจัดการคัดเลือกกำนัน การประชุมคัดเลือกต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย มีผู้ใหญ่บ้านไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่บ้านที่มีในตำบล มีการเสนอชื่อ และลงคะแนน นับคะแนน
หากมีผู้คัดค้าน ต้องทำหนังสือคัดค้านต่อนายอำเภอภายใน 15 วัน และนายอำเภอต้องแจ้งรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการคัดเลือกนั้นไม่สุจริต เป็นไปตามคำคัดค้าน ก็ต้องสั่งให้กำนันคนนั้นพ้นตำแหน่งภายใน 90 วัน นับจากวันที่คัดเลือก แล้วต้องดำเนินการคัดเลือกใหม่ภายใน 30 วัน
กำนันกับผู้ใหญ่บ้าน ต่างกันยังไง
กำนันในอดีต มาจากการคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านในตำบลให้ดำรงตำแหน่ง และมีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันตำแหน่งกำนันมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 5 ปี
กำนันต่างจากผู้ใหญ่บ้านอย่างไร ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของลูกบ้านในหมู่บ้าน ส่วนกำนันมาจากการเลือกตั้งของผู้ใหญ่บ้าน ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
กำนันจะได้รับเงินเดือน แต่ไม่ได้มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน
กำนันมีหน้าที่อะไร
อำนาจหน้าที่ของกำนัน ได้แก่
1. อำนาจหน้าที่ปกครองราษฎร ที่อยู่ในหมู่บ้านหรือตำบลของตน
2. รายงานดูแลรักษาความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน ตลอดจนการป้องกันและระงับเหตุร้าน รวมทั้งเหตุการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ตำบลของตน ซึ่งอาจจะเป็นคุณหรือโทษแก่ราชการบ้านเมือง หรือประชาชน ให้ทางการรับทราบ
3. นำข้อราชการไปประกาศแก่ราษฎรในพื้นที่การปกครองของตน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถือเป็นตัวกลางระหว่างราชการและประชาชน ในการนำข่าวสารของทางราชการไปแจ้งแก่ราษฎรทราบ และนำความต้องการของราษฎรไปแจ้งแก่ราชการ
4. จัดทำทะเบียนท้องที่เขตปกครองเกี่ยวกับจำนวนประชากร จำนวนครอบครัว จำนวนสัตว์พาหนะ และลักษณะพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ
5. อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณประโยชน์ ตรวจรักษาสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในตำบล เช่น สระน้ำ ศาลา ที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องที่ของตน รวมถึงว่ากล่าวสั่งสอนลูกบ้านที่ประพฤติไม่เหมาะสม
6. ฝึกอบรมให้ราษฎรรู้จักหน้าที่และการกระทำในเวลารบ
7. บำรุงและส่งเสริมอาชีพของราษฎร
8. รักษาสุขภาพอนามัยของราษฎร และจัดการป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาด
9. จัดการหมู่บ้านให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
10. อำนาจหน้าที่ในการที่เกี่ยวด้วยความอาญา
นอกจากนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องที่ เช่น
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของราษฎร ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าพนักงานตามด่านตรวจ เป็นผู้รับรองสัญญาติไทยให้กับบุคคลตามทะเบียนบ้านได้ ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2426
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ หรือผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ ใน พ.ร.บ.อื่นๆ
เงินเดือนกำนัน 2566
เงินเดือนของกำนัน ขั้นสูง อยู่ที่ 15,000 บาท ขั้นต่ำ อยู่ที่ 12,000 บาท