ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ชนะเลิศ ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน

4 กันยายน 2566
เกาะติดข่าว กดติดตาม โซเชี่ยล ระยอง

ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทยจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.ย. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พร้อมคณะข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้ารับพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทาน สืบสาน ตำนานไหมไทย ประเภทผ้าทอยกใหญ่ระดับประเทศ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ไหมไทย ล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายอายุตม์กล่าวต่อว่า ด้วยกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหมจัดการประกวดผ้าไหมตรานกยูง ชิงรางวัลพระราชทานจากสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2566 ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย พร้อมผลักดันมาตรฐานไหมไทย มุ่งสร้างชื่อเสียงสู่สากล สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ครั้งนี้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นหนึ่งในเรือนจำและทัณฑสถานที่ส่งผลงานเข้าประกวด และ ร่วมถวายรายงานขณะสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการกรมราชทัณฑ์ โครงการคืนคนดีสู่สังคมตามพระราชดำริฯ ด้วยโครงการฝึกวิชาชีพหม่อนไหมในราชทัณฑ์ เรือนจำและทัณฑสถานภาคเหนือแบบครบวงจร ได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง เรือนจำจังหวัดลำพูน และทัณฑสถานหญิง เชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ 5 พ.ย.63 ร่วมกันหารือประเด็นความเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการผลิตเส้นไหมของทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางส่งให้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่และเรือนจำจังหวัดลำพูนใช้ทอผ้า ตลอดจนจัดทำโมเดลหม่อนไหมในราชทัณฑ์แบบครบวงจร (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) นำร่องในภาคเหนือภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติเชียงใหม่” อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

นายอายุตม์กล่าวอีกว่า ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมด้วยอาชีพด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป้าหมายเพื่อขายรัง สาวเส้นขาย และกระจายไปให้เรือนจำอื่น (ต้นน้ำ) การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้ามีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดสาธิตการเรียนรู้ด้านหม่อนไหมและการทอผ้ายกดอกลำพูนให้ได้การรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน (กลางน้ำ) จนถึงการทอผ้าและการแปรรูปผ้าไหม เป้าหมายเพื่อทอผ้ายกดอกลำพูนให้ได้การรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทาน และแปรรูปผ้าไหมให้เหมาะสมกับตลาด (ปลายน้ำ) นอกจากนี้ยังร่วมกันติดตามผู้ต้องขังที่พ้นโทษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพด้านหม่อนไหมอย่างต่อเนื่อง

“จากความสำเร็จที่ผ่านมา มีการฝึกวิชาชีพด้านหม่อนไหมแก่ผู้ต้องขังไปแล้วกว่า 200 คน จากการติดตามผู้ที่พ้นโทษออกไปในปี 2566 พบว่า มีผู้นำองค์ความรู้ด้านการทอผ้าไหมไปต่อยอดประกอบเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและ ครอบครัว จำนวน 15 ราย ส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ ดีขึ้น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับครอบครัวอยู่ ร่วมกับสังคมภายนอกอย่างปกติสุข และขยายผลอาชีพสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายอายุตม์กล่าว

แผนที่