ระวังน้ำท่วม! 6 เคล็ดลับ ป้องกันโรคน้ำกัดเท้า เสี่ยงติดเชื้อรา-แบคทีเรีย
การเดินลุยน้ำบ่อยๆ หรือย่ำน้ำที่อาจมีสิ่งสกปรก สารเคมี และเชื้อโรคปะปนอยู่ หากรักษาความสะอาดไม่ดีพอ มักเกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot)
ตามที่พญ.สุเพ็ญญา วโรทัย และ นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเรื่องโรคผิวหนังที่มากับน้ำท่วม เผยว่า โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดแรกที่จะเกิดหลังการสัมผัสน้ำสกปรกต่อเนื่องซ้ำๆ กันในสัปดาห์แรก
โดยเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง เนื่องจากความเปียกชื้นและการสัมผัสสิ่งสกปรกและสารเคมีต่างๆ ในน้ำท่วมขัง ทำให้ผิวหนังจะมีลักษณะเปื่อยลอกโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าอาจมีอาการผื่นแดงพร้อมแสบคันร่วมด้วย
ซึ่งการดูแลตนเองในเบื้องต้นอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ได้ ดังนั้น เคล็ดลับวิธีการป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
- สวมรองเท้าบูทเสมอเมื่อจำเป็นต้องลุยน้ำท่วมขัง แต่ทว่าใครที่ไม่สามารถหาซื้อไม่ทันเวลาควรหาถุงครอบเท้าหรือดัดแปลงพลาสติกสวมทับรองเท้าให้กระชับ หากระดับน้ำสูงเกินกว่าขอบรองเท้า เราขอแนะนำให้ใช้ถุงดำครอบจากนั้นใช้หนังยางหรือเชือกรัดไว้
เมื่อน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตามน้ำ หลังจากกลับถึงบ้านแล้ว ให้นำรองเท้าที่สวมใส่ไปล้างน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ ผึ่งลม พร้อมตากแดดช่วงเช้าที่จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรค
2. รักษาสุขอนามัยของเท้าหลังการสัมผัสน้ำสกปรกควรล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที จากนั้นเช็ดรักษาความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
3. ตรวจสอบรองเท้าก่อนสวมใส่ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้งควรสำรวจดูสิ่งแปลกปลอมด้านใน เพื่อป้องกันการเกิดแผลและป้องกันสัตว์มีพิษที่อาจจะมากับน้ำท่วมซ่อนตัวอยู่
4. ทาขี้ผึ้งก่อนลุยน้ำความมันของขี้ผึ้งสามารถลดโอกาสในการสัมผัสของน้ำสกปรกกับผิวหนังได้ ซึ่งแพทย์แนะนำว่าหากไม่มีขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ก็สามารถใช้ขี้ผึ้งวาสลินแทนกันได้ โดยทาให้ทั่วเท้า ทั้งนิ้วเท้าและง่ามนิ้ว เมื่อขึ้นจากน้ำให้เช็ดขี้ผึ้งออก ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ พร้อมทั้งเช็ดเท้าให้แห้งทันที
5. ดูแลแผลถลอกหากมีแผลถลอกบริเวณเท้าควรเช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ ใส่ยาฆ่าเชื้อหรือแช่น้ำผสมยาฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที ต่อมาฟอกสบู่พร้อมล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งสนิทและทายาป้องกันแผลติดเชื้อ
6. การรักษาเบื้องต้นหากเกิดผื่นจากน้ำกัดเท้าคือการใช้ยาแก้คันทาบริเวณผื่น ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้ยาแก้คันที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อรา หากยังไม่แน่ใจการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน เนื่องจากอาจบดบังอาการของการติดเชื้อราระยะต้นได้
นอกจากนี้ ตามที่รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ คณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า ยามีหลายประเภท ทั้งที่เป็นยารับประทาน ยาสำหรับสเปรย์ ยาทาประเภทครีม ขี้ผึ้ง และผง เช่น Whitfield’s ointment และ ยาในกลุ่ม imidazole เป็นต้น ให้ทาบาง ๆ หลังจากทำความสะอาดแผลและเช็ดให้แห้งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยาจำพวกขี้ผึ้งรักษาเชื้อราจะมีฤทธิ์กัดให้ผิวหนังชั้นบนลอกออก ซึ่งจะเพิ่มการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้อาการแดง ลอก แสบคันเป็นมากขึ้นได้อีกด้วย การที่จะใช้ยาชนิดใดควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์