เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จฯ เยือนเชียงใหม่ ช่วยพัฒนาผลงานภูมิปัญญาไทยภาคเหนือ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จฯ เยือนเชียงใหม่ ช่วยพัฒนาผลงานภูมิปัญญาไทยภาคเหนือ
“เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เสด็จฯ เยือนเชียงใหม่ ทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวม 30 กลุ่ม ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยภริยา “ธนนนท์ นิรามิษ” ที่ปรึกษาสมาคมแม่บ้านมหาดไทย “ซาบีดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” รมช.มหาดไทย “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” ปลัดกระทรวงมหาดไทย “จิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์” นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์” อธิบดีกรมการปกครอง “พรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน “สยาม ศิริมงคล” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน “อรจิรา ศิริมงคล” ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ พัฒนาการจังหวัดภาคเหนือ และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ เฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผ้าไทยให้คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับกลุ่มชุมชนและผู้ประกอบการภาคเหนือทั้ง 30 กลุ่ม ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มเตาหลวงสตูดิโอ กลุ่มเชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด Ninechaidee (นายใจดี) และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง และวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโครเชต์บ้านป่ามะม่วง จังหวัดตาก Piyasila และหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษา จังหวัดเพชรบูรณ์ ญเนศไทยดีไซน์ จังหวัดแพร่ กลุ่มบ้านปั้นจันทร์ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด และปั้นงานเซรามิค จังหวัดลำปาง ทุ่งหัวช้างโมเดลจังหวัดลำพูน คุณหญิงผ้าทอน้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มแต้มตะกอ (กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ) จังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งกลุ่มศิลปาชีพ ภาคเหนือ ซึ่งน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ และใช้โทนสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊ก เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้สีที่มีความทันสมัย มีการใช้วัตถุดิบจากเส้นใยและพืชพรรณภายในชุมชน ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”
โอกาสนี้ “สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ยังได้พระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ รวมถึงผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP เฝ้าถวายการบ้านขอพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นจริงจัง จากนั้นจึงเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการพัฒนาต้นแบบผ้าทอกัญชงผสมเส้นใยธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนของมูลนิธิโครงการหลวง และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ
“สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โปรดให้ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ, นักวิชาการ และนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ช่างทอผ้า ช่างเซรามิก และผู้ประกอบการ อาทิ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมเพื่อพร้อมก้าวสู่ตลาดสากล.