ในหลวง-ราชินี เสด็จงานการบิน ฉลอง 88 ปี “กองทัพอากาศไทย” 3 มหาอํานาจโลกร่วมโชว์ยิ่งใหญ่
ในหลวง-ราชินี เสด็จงานการบิน ฉลอง 88 ปี “กองทัพอากาศไทย” 3 มหาอํานาจโลกร่วมโชว์ยิ่งใหญ่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในฉลองพระองค์ชุดนักบินเสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน6 ดอนเมือง มีกองทัพอากาศมิตรประเทศ 3 ประเทศ นำโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดียและกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมแสดงการบิน สุดปีติ “ในหลวง” ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการบิน ทรงเป็นนักบินขับไล่ที่มีชั่วโมงบินต่อเนื่องมากกว่า 2,800 ชั่วโมงบิน ถือเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับนักบินขับไล่ทั่วโลกที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังทรงเป็นนักบินพาณิชย์ โดยทรงดำรงตำแหน่ง “กัปตัน” ในอากาศยานแบบ Boeing 737-400 และ Boeing 737-800
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังกองบิน 6 กองทัพอากาศ ดอนเมือง ทอดพระเนตรการแสดงการบิน นิทรรศการด้านการบินและอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากองทัพอากาศ ครบรอบ 88 ปี.
เมื่อเวลา 08.55 น. วันที่ 7 มี.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในฉลองพระองค์ชุดนักบิน เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ ไปทอดพระเนตรการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมีพลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. พลอากาศเอก เสกสรร คันธา ผช.ผบ.ทอ. ประธานจัดงานการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการทหารอากาศ เฝ้าฯรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปยังที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศเอก คิดควร สดับ ผช.ผบ.ทอ. และนางวริสรา สดับ ภริยา เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว ผบ.ทอ.กราบบังคมทูลรายงานการจัดการแสดงการบินเนื่องในโอกาสครบ 88 ปี กองทัพอากาศ ที่มีการแสดงการบิน 5 ชุด ประกอบด้วย การบินสวนสนามทางอากาศพร้อมควันสีธงชาติ การสาธิตการบินของเครื่องบินขับไล่ Gripen การแสดงของฝูงบินผาดแผลง August 1st การสาธิตสมรรถนะการบินของเครื่องบินขับไล่ F-35 และการแสดงของฝูงบินผาดแผลง Suryakiran
จากนั้นทอดพระเนตรการแสดงการบินชุดที่ 1 ประกอบด้วย “การบินฟอร์เมชัน ดิสเพลย์ วิธ เนชันแนล คัลเลอร์ส สโมค” (Formation Display with National Colors Smoke) โดยเครื่องบิน AU-23, T-50TH และเครื่องบิน F-16MLU จากกองทัพอากาศไทย “การบินกริพเพน เดโม” (Gripen Demo) จากกองทัพอากาศไทย “การบินออกัสท์ เฟิร์ธ” (August 1ST) โดยเครื่องบิน J-10C จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ “การบินเอฟ-35 เอ เดโม” (F-35A Demo) จากกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการแสดงการบินชุดที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเข้าภายในอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผช.ผบ.ทอ. และภริยา เฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายของที่ระลึก จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการและวีดิทัศน์ภารกิจเครื่องบิน “กริพเพน” (Gripen) บินลงจอดบนถนนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยวิ่งขึ้นจากสนามบินหาดใหญ่บินไปตามจุดที่กำหนดเพื่อลงสนามแบบ Straight in approach ในเที่ยวแรกได้ทำ Low approach เพื่อทำความคุ้นเคยและในเที่ยวบินที่ 2 จึงทำการลงสนามจริง
ทั้ง 2 พระองค์ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการพระมหากษัตริย์นักบินแห่งราชวงศ์จักรี ด้วยพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถด้านการบิน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเชี่ยวชาญ หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาทางการทหารเมื่อ พ.ศ.2522 ทรงเริ่มเข้ารับการฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบกเมื่อ พ.ศ.2523 ทรงฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศ ทรงสำเร็จตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2523 และได้ทรงบินเฮลิคอปเตอร์ด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จฯไปยังโรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2523 ปัจจุบันคือโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ทรงรับพระราชทาน ประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศ จากพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นความภูมิใจของกำลังพลกองทัพอากาศ
ด้วยพระราชปณิธานในการเป็นนักบิน ทรงเข้ารับการถวายการฝึกบินกับอากาศยานปีกตรึงโดยกองทัพอากาศ และเสด็จฯไปทรงศึกษาเทคนิคการบินจากฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ฐานทัพอากาศเล็คแลนด์ เมืองแซนเอนโทนิโอ รัฐเท็กซัส ทรงจบหลักสูตรการบินขับไล่ไอพ่น ยุทธวิธีขั้นพื้นฐานจากฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 425 ฐานบินวิลเลียมส์ รัฐอริโซนา ทรงเข้าศึกษาฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบเอฟ- 5 อี (F-5E) ในหลักสูตรการบินขับไล่ไอพ่นทางยุทธวิธีชั้นสูง ทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ กับทรงศึกษาหลักสูตรทางทหารเพิ่มเติม เช่น หลักสูตรต้นหนชั้นสูง การลาดตระเวน หลักสูตรส่งทางอากาศ หลักสูตรการบิน เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช-1 เอช (UH-1H) ของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ณ ฟอร์ท แบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนาและหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธแบบเอเอช- 1 เอส คอบรา (AH-1 S COBRA)
ทรงฝึกฝนการบินอย่างสม่ำเสมอและยังได้ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีของกองทัพอากาศที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยทรงเข้าร่วมแข่งขันระหว่างพุทธศักราช 2526 ถึง 2530 ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักบินขับไล่ไอพ่นพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานปีกหมุน อากาศยานปีกตรึงแบบใบพัด เครื่องยนต์ไอพ่น และด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นนักบินขับไล่ที่มีชั่วโมงบินต่อเนื่องมากกว่า 2,800 ชั่วโมงบิน ถือเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับนักบินขับไล่ทั่วโลกที่จะทำได้
ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทรงมี ปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานการฝึกสอนทั้งวิชาการภาคพื้นและการฝึกบินให้แก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ แสดงถึงพระปรีชาสามารถที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยพัฒนา ยกระดับการบินของชาติ ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ทรงอุปถัมภ์งานด้านการบินอย่างต่อเนื่อง นับเป็นคุณูปการแก่กองทัพอากาศไทยและกิจการการบินของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ภายหลังทอดพระเนตรนิทรรศการเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จฯไปยังหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทอดพระเนตรเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ เอฟ- 5 อี (F-5E) และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์กับเครื่องบิน ที-50 อากาศยานไอพ่นความเร็วเหนือเสียงและเป็นอากาศยานโจมตี จากกองบิน 4 ตาคลี จ.นครสวรรค์ จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการเครื่องบิน ฝึกจำลอง (Gripen E/F Simulator) ของเครื่องบิน Gripen ด้วยความสนพระราชหฤทัย โอกาสนี้ทรงมี พระราชปฏิสันถารกับนักบินในฝูงบินจากสาธารณรัฐ ประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกา แล้วเสด็จฯไปยังที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ทอดพระเนตร การแสดงการบิน ชุดที่ 2 “การบินสูรยกิรัณ” (Surya kiran) จากกองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดีย ภายหลังจบการแสดงการบิน เสด็จออกจากที่ประทับหน้าอาคารท่าอากาศยานทหาร 2 ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการบิน ทรงสำเร็จหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1 H/1 N และ AH-1 S และทรงผ่านการฝึกบินรบชั้นสูงด้วยเครื่องบินขับไล่ F-5 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่หลักของกองทัพอากาศไทยในอดีต โดยทรงมีชั่วโมงบินรวมกว่า 2,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ ทรงดำรงตำแหน่ง กัปตัน ในอากาศยานแบบ Boeing 737-400 และ Boeing 737-800 ทรงปฏิบัติหน้าที่ขับเคลื่อนอากาศยานด้วยพระองค์เองในหลายโอกาสและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชหฤทัยผูกพันกับกิจการการบินด้วยเช่นกัน ทรงสำเร็จหลักสูตรการฝึกบินและทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจการบินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งนักบินผู้ช่วยในเที่ยวบินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินด้วยพระองค์เอง
การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่กองทัพอากาศและประชาชนชาวไทยที่ได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทชื่นชมพระบารมีและร่วมเฉลิมฉลองความเจริญก้าวหน้าของกองทัพอากาศไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องอธิปไตยของชาติ
สำหรับการจัดแสดงอากาศยานของกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศมิตรประเทศทั้ง 3 ประเทศ ประกอบด้วย กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา กองทัพอากาศสาธารณรัฐอินเดียและกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม ณ กองบิน 6 ท่าอากาศยานทหารดอนเมือง