แสงส่องแดนสนธยา กองทุนประกันสังคม
แสงส่องแดนสนธยา กองทุนประกันสังคม
กองทุนประกันสังคม (สปส.) มีหลักการบริหารแบบ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ซึ่งหมายถึง การนำเงินสมทบจากผู้ประกันตนมาใช้ช่วยเหลือกันในรูปแบบของสวัสดิการสังคม เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ที่ใช้สิทธิมากหรือน้อย
เป้าหมายของระบบนี้ พุ่งเป้าดูแล “ผู้ประกันตน” ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ลดความเสี่ยงที่ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการเพียงลำพัง และสร้าง “หลักประกัน” ให้ “แรงงาน” สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
แนวทาง “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” คือการกระจายความเสี่ยงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดีได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินก้อนโตเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
ลดภาระของประชาชนในการวางแผนเรื่องค่ารักษาพยาบาลและเงินบำนาญ เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบแรงงานและเศรษฐกิจ ช่วยให้แรงงานมีความมั่นคงด้านสุขภาพและการเงิน ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย
ที่สำคัญก็คือ…สนับสนุนการดูแล “ผู้สูงอายุ” ในอนาคต “กองทุนชราภาพ”…ช่วยให้แรงงานมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ เป็นหลักประกันระยะยาวที่ช่วยลดภาระของรัฐในการดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการงบสังคมโดยรวม การมีระบบกองทุนกลางที่ดูแลสวัสดิการหลายด้าน ทำให้สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปรับงบประมาณระหว่างกองทุนสุขภาพ กองทุนชราภาพ กองทุนว่างงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในแต่ละช่วงเวลา
เหรียญมีสองด้าน แนวทาง “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” ก็มีอีกด้านเช่นกัน นั่นก็คือ ปัญหาความยั่งยืนทางการเงินของกองทุน
“กองทุนประกันสังคมมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ ที่ต้องจ่ายบำนาญให้ผู้เกษียณ…คาดการณ์ว่าในอนาคตเงินสะสมของกองทุนชราภาพอาจหมดลงภายในปี 2050 หากไม่มีการปรับปรุงโครงสร้าง”
ประเด็นสำคัญถัดมาก็คือ…ความเหลื่อมล้ำในการใช้สิทธิประโยชน์
ผู้ประกันตนบางกลุ่มใช้สิทธิน้อยมาก เช่น คนที่ไม่ป่วย ไม่ตกงาน แต่ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน…บางคนอาจมองว่าระบบนี้ไม่เป็นธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
อีกทั้งข่าวคราวที่ผ่านมาเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการ บริหารกองทุน?…ปัญหาการทุจริตหรือการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจทำให้เงินกองทุนถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์
นับรวมไปถึงเรื่อง…การลงทุนของกองทุนยังขาดความโปร่งใสและมีความเสี่ยง?
เมื่อผนวกรวมกับปัจจัยสำคัญความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนผู้จ่ายเงินสมทบลดลง ขณะที่จำนวนผู้ใช้สิทธิชราภาพเพิ่มขึ้น
อาจ…ทำให้ “เงินสมทบ” ที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อการจ่าย “เงินบำนาญ” ในอนาคต?
ย้อนไปราวสองปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงศึกษาวิจัยด้านประกันสังคม แรงงาน และสุขภาพ มานานเกือบ 3 ทศวรรษ สะท้อนมุมมองไว้น่าสนใจ
“2.3 ล้านล้านบาทเป็นเงินสะสมในกองทุนประกันสังคม เงินจำนวนนี้มีมูลค่ามหาศาลและมีความสำคัญต่อผู้ประกันตนว่าจะได้รับบำเหน็จบำนาญในอนาคตหรือไม่”
ที่ผ่านมามี 2 ปัญหาหลักที่ผู้ประกันตนมักจะสะท้อนออกมา คือ สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล และ ความยั่งยืนของกองทุนชราภาพ ที่มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุไปในทิศทางเดียวกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ “กองทุนชราภาพ” จะมีเงินสะสมไม่พอจ่าย
และ… “ผู้ประกันตน” ที่ต้องเจียดแบ่งเงิน “รายได้” ของตัวเองเพื่อสมทบกองทุนทุกเดือน มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับ “เงินบำนาญชราภาพ” ในวัยเกษียณ
หลายคนถึงกับเปรียบเปรยว่าปมปัญหานี้คือ “ระเบิดเวลา” ที่เริ่มนับถอยหลังรอวันทำลายล้างในวันใดวันหนึ่งในอนาคต แล้วเราจะเปลี่ยน “ชะตากรรม” ของผู้ประกันตนได้อย่างไร?
ศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ย้ำว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนเหมือนเสียภาษีอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อจ่ายไปก็มีความคาดหวังว่าเงินเหล่านั้นจะได้มาช่วยเหลือเขาในยามที่เขาลำบาก ทั้งเรื่องของการเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพหรือแก่ชรา
และ…คาดหวังว่า “เงิน” ที่จ่ายเข้า “กองทุน” ทุกบาททุกสตางค์จะต้องถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกทำให้เกิดดอกผลอย่างยั่งยืน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายากลำบาก เราจะได้ใช้ประโยชน์จากเงินนี้ ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคตอันไกลในยามที่เราแก่ชรา