ชงข้อมูลแก้เด็กหลุดระบบถึงรองนายกฯ ลุยขับเคลื่อนตามเด็กกลับให้ครบ 100%
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาตามโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ หรือพิซา ซึ่งตนคิดว่าจะปรับประเด็นใหม่ให้เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่การพัฒนาระดับสากล จะไม่ใช่แค่ยกระดับการสอบพิซาอย่างเดียว แต่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือวิชาอื่นๆด้วย นอกจากนี้สถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ได้รายงานการจัดทดสอบการประเมินนักเรียนระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีการศึกษา 2567 พบว่าชั้นประถมศึกษาปีที่6 มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 692,696 คน ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าสอบ 508,839 คน และ ม.6 เข้าสอบ 218,180คน โดยได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ถึงเหตุผลที่เข้าทดสอบพบว่า เพื่อวัดความรู้ความสามารถตนเอง ร้อยละ 78.66 สอบตามที่สถานศึกษาแจ้ง ร้อยละ 43.71 และเพื่อใช้ผลการศึกษาต่อ ร้อยละ 38.50 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พึงพอใจด้านระบบดิจิทัลและอุปกรณ์ที่ใช้สอบ
“การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบนั้นสามารถติดตามนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา 321,640 คน และยังไม่ได้ติดตาม 48,733คน ซึ่งการติดตามข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ขณะนี้ติดตามเด็กภาคบังคับ (6-15ปี) เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 74,092 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73 โดย สพฐ. ยังดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” และการศึกษาที่ยืดหยุ่น “โครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” มีโรงเรียนต้นแบบการดำเนินการ (โรงเรียนพี่เลี้ยง) 54โรงเรียน และโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการ 927 แห่งทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่นและป้องกันเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบต่อไปส่วนการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบปีการศึกษาต่อไปจะนำผลงานของเราทั้งหมดเสนอให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา เพื่อเป็นมิติขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่ ศธ.ตามเด็กกลับเข้าระบบได้ครบ 100% ต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว.