“อนุชา” หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี ติวเข้มความรู้มาตรฐานฟาร์ม
“อนุชา” ชู “ชัยนาทโมเดล” ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี “ชัยนาทบีฟ” พร้อมให้ความรู้มาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ มุ่งยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมโครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง ที่แฟนตาซี รีสอร์ท อ.เมือง จ.ชัยนาท ว่า จากนโยบายภาคการเกษตรของรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร โดยใช้หลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคการเกษตร ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีค่าสูงขึ้น
นายอนุชา กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย “ชัยนาทโมเดล” โดยมีแนวทางการส่งเสริม ได้แก่ 1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี ที่ใช้น้ำน้อย ผลผลิตสูง ทนทานโรค และแมลง 2. การลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส เช่น หญ้าเพื่อการเลี้ยงวัว การบริหารจัดการน้ำ ยกระดับภาคเกษตร ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) 3. การบริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 4. การสร้างคุณค่า ความภาคภูมิอาชีพ ระบบตลาดนำการผลิต 5. การขยายสาขาวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท 6. การเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท เป็นต้น โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯร่วมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การทำนาหรือทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงมีหน้าที่พัฒนาอาชีพเสริมให้แก่พี่น้องเกษตรกร ได้ประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าหากเกษตรกรมีอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี “ชัยนาทบีฟ” ตามโครงการ “ชัยนาทโมเดล” ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจนและหมดหนี้สิน สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีฐานะมั่นคง เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร
“โคเนื้อพันธุ์ “ชัยนาทบีฟ” เป็นโคเนื้อขุนลูกผสมบราห์มัน กับโคเนื้อสายพันธุ์ยุโรป เช่น แองกัส บีฟมาสเตอร์ ชาโลเล่ย์ วากิว ซึ่งปัจจุบัน จ.ชัยนาท มีเกษตรกร ที่เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 3,557 ราย มีประชากรโคเนื้อ จำนวน 58,088 ตัว โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบางส่วน ได้ปฏิบัติและผ่านการรับรองมาตรฐานการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management; GFM) จากกรมปศุสัตว์แล้ว แต่ยังมีเกษตรกรอีกหลายราย ที่มีความประสงค์และต้องการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อต่อยอดการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวอีกว่า ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อใน จ.ชัยนาท ให้มีความรู้และความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) ให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และยังทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมีศักยภาพเพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต และพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อของตนเองให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ตามเป้าหมายนโยบาย “ชัยนาทโมเดล”
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) ได้กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติตั้งแต่
1. องค์ประกอบฟาร์ม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากอันตรายทางเคมี และชีวภาพ มีแหล่งน้ำที่สะอาดเหมาะแก่การเลี้ยงโค และมีปริมาณเพียงพอตลอดปี
2. อาหารสำหรับโคเนื้อ จัดให้มีอาหารหยาบและอาหารข้น ที่มีคุณภาพดีเพียงพอกับความต้องการของโคเนื้อแต่ละประเภท โดยเฉพาะอาหารข้นที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิต ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
3. น้ำ แหล่งน้ำใช้ในฟาร์มอยู่ในบริเวณที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสิ่งที่เป็นอันตราย
4. การจัดการฟาร์มแสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม ได้แก่ ระบบการเลี้ยง อาหาร และน้ำสำหรับโคเนื้อ การจัดการฟาร์มรวมถึงการจัดการฝูงโค ตามวัตถุประสงค์การจัดการด้านสุขภาพโคเนื้อ และการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์สิ่งแวดล้อม
5. สุขภาพสัตว์อยู่ภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อกำหนดใน มกษ. 9032 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์
6. สวัสดิภาพสัตว์ ดูแลโคเนื้อ ให้มีความเป็นอยู่สบายและได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม หากโคเนื้อบาดเจ็บ ป่วย หรือพิการ เพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน
7. การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการซากโคให้อยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม กรณีทำลายให้นำซากไปฝังไว้บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ราดด้วยยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้ปูนขาวโรยจนทั่วแล้วกลบดินปิดปากหลุม และพูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
8. การบันทึกข้อมูล จัดทำบันทึกผลปฏิบัติงานในขั้นตอนสำคัญในการจัดการฟาร์ม และข้อมูลประวัติของสัตว์ ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 8 หัวข้อ สามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ จากสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ได้ เพื่อผลิตโคที่มีสุขภาพดี และได้เนื้อโคและผลิตผลอื่นๆ ที่มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหาร ที่ปลอดภัยต่อการบริโภค