ปมลึกแทงเพื่อนดับ เด็กพิเศษเพิ่มสูงสังคมไทย ครูขาดทักษะลดรุนแรง
สลดเด็กนักเรียน ม.2 โรงเรียนย่านพัฒนาการ แทงเพื่อนเสียชีวิตหลังจากเลิกแถว ผู้เชี่ยวชาญชี้ ตอนนี้ไทยมีเด็กพิเศษเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ ขณะครูส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจถึงพฤติกรรมความรุนแรงของเด็ก เช่นเดียวกับกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีกระบวนการอบรมครูในการดูแลเด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นกระบวนการ
วันนี้ (29 ม.ค. 67) เกิดเหตุเด็กพิเศษชั้น ม.2 แทงเพื่อนเสียชีวิต โดยมีรายงานว่า ช่วงเช้าหลังจากกิจกรรมเข้าแถวประจำวัน เด็กผู้ก่อเหตุได้ใช้มีดแทงบริเวณท้ายทอยด้านขวา โดยนักเรียนที่ถูกแทงไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน แต่เด็กที่ก่อเหตุมีพฤติกรรมเงียบขรึม ช่วงเช้าก่อนเกิดเหตุไม่มีความผิดปกติ ขณะเดียวกันเพื่อนนักเรียนก็อ้างว่า ผู้ก่อเหตุมีการแอบพกมีดมา
โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนเล่าว่า หลังเด็กที่เสียชีวิตถูกแทงได้วิ่งมาขอความช่วยเหลือที่ป้อมยาม โดยมีเด็กผู้ก่อเหตุวิ่งตามมาด้วย และมีพฤติกรรมจ้องมองเด็กที่เสียชีวิต จนครูต้องนำผู้ก่อเหตุไปยังจุดอื่น ด้วยความที่น้องเสียเลือดมาก ไม่นานก็ล้มลง จนทำให้เสียชีวิตหลังจากนั้น
แม้มีข้อถกเถียงกันในโลกโซเชียล ในการเรียนร่วมกันระหว่างเด็กพิเศษและเด็กปกติ ที่ถือเป็นนโยบายเรียนร่วมกันมานานแล้ว แต่สิ่งที่เป็นช่องว่างคือการเรียนรู้พฤติกรรมความรุนแรงของเด็กกลุ่มนี้ ที่ครูยังไม่มีหลักสูตรในการดูแล สร้างระบบการเรียนร่วมกันอย่างเหมาะสม ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง “นางศีลดา รังสิกรรพุม” ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเด็กที่มีพฤติกรรมเป็นเด็กพิเศษเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก ครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือ และขาดการปฏิสัมพันธ์ ขณะเดียวกันเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ถูกรับการดูแลที่เหมาะสม เนื่องจากครอบครัวขาดความรู้
ขณะที่เมื่อไปโรงเรียนครูก็ขาดความเข้าใจ ต้องยอมรับว่าตอนนี้ทางกระทรวงฯ ขาดหลักสูตรที่มาอบรมครูที่จะเข้ามาดูแลเด็กพิเศษ ที่เรียนรวมกับเด็กทั่วไป ทั้งที่จริงแล้วครูควรมีองค์ความรู้ เพราะบางครั้งเด็กก็แสดงพฤติกรรมที่รุนแรง แต่ถ้าครูมีความเข้าใจ จะสามารถเข้าไปดูแลเด็กได้ เพื่อไม่ให้ก่อเหตุร้ายแรงอย่างที่เกิดขึ้น
กรณีน้องที่แทงเพื่อนเสียชีวิตในโรงเรียนย่านพัฒนาการ หากข้อมูลที่เพื่อนบอกว่า มีการพกมีดมา ย่อมแสดงถึงพฤติกรรมความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ เพราะการจัดการกลุ่มเด็กพิเศษ หรือเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรง ครูควรต้องมีการประเมินว่า เด็กกลุ่มนี้ ครูสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กผ่านกิจกรรมเชิงบวกได้หรือไม่ กับเด็กอีกกลุ่มที่มีพฤติกรรมรุนแรง ยากที่ครูจะจัดการได้ ควรมีการทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ควรนำเด็กออกจากระบบการศึกษา เพราะถ้าเด็กหลุดจากระบบ ต่อไปก็จะไปก่อเหตุความรุนแรงกับคนในสังคมได้
สำหรับเด็กพิเศษ ครูสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยมีการประเมินเด็กทุกปี และสร้างกิจกรรมในเชิงบวก โดยครูจะต้องพยายามหาจุดที่สามารถชมเด็ก เพื่อให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ เพราะต้องยอมรับว่า เด็กบางคนแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมา เนื่องจากมีภาวะความกดดันจากครอบครัวที่ดุด่าประจำ พอมาโรงเรียนก็โดนเพื่อนล้อ ดังนั้น ครูควรเข้าใจเด็ก และค่อยๆ สร้างความภูมิใจ เพื่อให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เด็กบางคน เมื่อครูไม่เข้าใจ ก็จะเป็นเหมือนการผลักให้เด็กไปอยู่กับเพื่อนในกลุ่มเกเร จนทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่รุนแรง และกลายเป็นปัญหาในสังคมต่อไปอีก ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครูยังเชื่อว่าควรให้โอกาสเด็ก ในการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะหลายครั้งที่เราเข้าไปในสถานพินิจ ถ้าไม่มีการจัดการที่เข้าใจ สุดท้ายเด็กเหล่านั้นพอออกมาก็จะไปรวมกลุ่มกันก่อปัญหาตามมาอีก.