ปัญญาประดิษฐ์อีกหนึ่งเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการทำงานด้านความยั่งยืน
30 พฤศจิกายน 2022 เป็นปีที่ ChatGPT ผลิตภัณฑ์สำคัญของโอเพนเอไอ (OpenAI) ได้ถือกำเนิดขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ตื่นทองทางปัญญาประดิษฐ์ แล้วได้เข้ามาปฏิวัติในหลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา และการทำงาน
ในปี 2024 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำมาผนวกในงานด้านความยั่งยืนด้วย เพื่อให้การทำงานด้านความยั่งยืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำ เช่นการนำปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ในกรณีที่ข้อมูลมีปริมาณมาก และต้องการให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็ว รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้คาดการณ์ผลกระทบของกลยุทธ์ความยั่งยืนต่างๆ ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ถ้าหากเป็นองค์กรที่ทำงานในลักษณะเป็นโรงงาน หรืออาคารสำนักงานทั่วไป สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์การใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างดีที่สุด
อย่างไรก็ดี การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในด้านความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ไม่มีอคติ (ผ่านการใช้อัลกอริทึม) และต้องรับประกันข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
การตรวจสอบการฟอกเขียว (Greenwashing) ที่เข้มข้นขึ้น
ในปี 2024 เป็นปีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนจะวางมาตรฐานเชิงรุกเพื่อต่อต้านการฟอกเขียว ผ่านการกำหนดนิยามให้ชัดเจนมากขึ้นว่าการประชาสัมพันธ์ในลักษณะใดที่เปิดเผยหรือแสดงข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เกินจริง พร้อมกับการกำหนดบทลงโทษต่อบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
แฟชั่นที่มาพร้อมกับความยั่งยืน
ในโลกแฟชั่นในปีนี้ เตรียมได้พบกับผลงานที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการนำเศษผ้าเหลือใช้มาผลิตเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่ เพราะเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอน การใช้น้ำปริมาณมหาศาล และการปล่อยน้ำเสีย ซึ่งในอนาคตก็อาจส่งผลต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ เป็นต้น
ในปี 2024 อุตสาหกรรมแฟชั่นก็น่าจะเพิ่มคอลเลกชันรักษ์โลกมากขึ้น ดังเช่นการนำวัสดุซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ผ้าหรือเศษผ้ารีไซเคิล วัสดุรีไซเคิล รวมถึงผ้าฝ้ายออร์แกนิก มาผลิตเป็นเสื้อผ้า กางเกง
ที่น่าสนใจจากการสำรวจของพินเทอเรสต์ (Pinterest) พบว่า ได้เกิดเทรนด์การนำเสื้อผ้าเก่าๆ ของคนรุ่นพ่อ-รุ่นแม่ รุ่นคุณตา-คุณยาย หรือคนวัยเก๋า มาสวมใส่ จนกลายเป็นการสานต่อแฟชั่นวินเทจให้ยังคงอยู่ในกระแสต่อไป
เทคโนโลยีด้านสภาพอากาศเชิงบวก (Climate-Positive Technology)
เทคโนโลยีด้านสภาพอากาศเชิงบวก เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกริเริ่มและมีความน่าสนใจไม่น้อย กล่าวคือ ไม่ได้ทำงานในด้านการมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการลดใช้ทรัพยากร แต่เทคโนโลยีด้านสภาพอากาศเชิงบวก ก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ หรือกำลังได้รับความนิยมในท้องตลาด
สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดในปี 2024 นี้ นั่นคือ ประเด็นความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องจำเป็น ภายใต้เป้าหมายเพื่อรักษา คงอยู่ และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับคนรุ่นถัดไป