กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ปัดฝุ่นไปต่อ หรือแค่หยั่งเสียงฟังกระแสอีกครั้ง
กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย กำลังถูกปัดฝุ่นอีกครั้งในรัฐบาลเศรษฐา จากจุดเริ่มเมื่อ 27 ปีที่แล้ว มีการนำเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบในหลายรัฐบาล แต่ถูกต่อต้านอย่างต่อเนื่อง และมีการถกเถียงในเรื่องนี้ประมาณ 3 ปีครั้ง จนในที่สุดต้องพับแผนไป และขณะนี้ทางองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ เริ่มมาตั้งแต่ 30 พ.ย.2566 จนถึงเดือน ก.ย. 2568 หรือประมาณ 2 ปีข้างหน้า หลังได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 2565
แต่ท้ายสุดจะเดินหน้าก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านจะพิจารณาผลการศึกษา ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. ในปีงบประมาณ 2567 นั่นไม่มีใครตอบได้ถึงอนาคตของกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง แต่กลับมีความเห็นในโลกโซเชียลทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนแฮชแท็ก #ภูกระดึง ติดเทรนด์ X หรือทวิตเตอร์
ในส่วนที่เห็นด้วยหยิบยกกระเช้าไฟฟ้าในสถานที่ท่องเที่ยวภูเขาสูงในต่างประเทศ อย่างกระเช้าไฟฟ้า ชมกำแพงเมืองจีน สามารถทำได้โดยไม่ทำลายทัศนียภาพที่สวยงามและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บ้างก็บอกว่า”ประเทศนี้ สงวนสิทธิ์การขึ้นภูกระดึงไว้สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง อวัยวะครบ 32 เท่านั้นใช่ไหม? ผู้สูงอายุ และบุคคลทุพพลภาพ คงไม่สามารถขึ้นไปข้างบนได้ใช่ไหม? ถึงได้มีคนคัดค้าน โดยไม่คำนึงความเท่าเทียมในการท่องเที่ยว” และเห็นว่ากระเช้าไฟฟ้าก็มีข้อดี แต่การจัดการขยะ สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน
ฤดูกาลท่องเที่ยวภูกระดึง พิสูจน์ใจนักท่องเที่ยวด้วยการเดินเท้าบนเส้นทางยากลำบากระยะทาง 5 กิโลเมตรกว่า หรือใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง อยู่ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ค.ของทุกปี เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟู และมีการจำกัดนักท่องเที่ยวเพียงวันละประมาณ 2,000 คน โดยแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 50,000 คน ต้องการไปสัมผัสธรรมชาติบนยอดภูกระดึง ความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ขณะที่ภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง ยืนยันประชาชนในพื้นที่หวังและรอกระเช้าไฟฟ้ามานาน มีมากถึง 99% เห็นด้วย ไม่ว่าลูกหาบที่ส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว รวมถึงร้านค้า เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวลดลงทุกปี ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่ค่อยดี จนคนในพื้นที่อยากให้การท่องเที่ยวฟื้นกลับมา เช่นเดียวกับพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเคยผลักดันให้มีกระเช้าไฟฟ้า ตั้งแต่เป็น สส.สมัยแรก เมื่อปี 2539 แต่มีผู้ต่อต้าน และในยุคนี้เศรษฐกิจตกต่ำ ยอดคนขึ้นภูกระดึงน้อยลง จึงอยากให้มีกระเช้าเพื่อเพิ่มรายได้ และคนยังสามารถเดินขึ้นไปได้ เพื่อให้ลูกหาบมีรายได้ต่อไป
กระเช้าขึ้นภูกระดึง หวั่นขัดจุดประสงค์จัดตั้งพื้นที่อุทยานฯ
ในมุมมองของ “ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เห็นว่าระหว่างเรื่องผลประโยชน์ กับผลกระทบจากกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะต้องพิจารณาให้ดี เนื่องจากภูกระดึง เป็นพื้นที่ป่าดิบเขามีลักษณะเฉพาะตัว มีระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งโลกมีเพียงแค่ 3% เท่านั้น มีความเปราะบางต่อการถูกทำลายอย่างมาก แม้ว่ากระเช้าไฟฟ้าสามารถนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปได้ถึงวันละ 4,000 คน แต่เป็นห่วงการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว จะทำได้ทั่วถึงหรือไม่
“ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ยังดูแลได้ไม่ทั่วถึงเลย และการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง อาจขัดต่อจุดประสงค์หลักของการจัดตั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในการรักษาพื้นที่ป่าและเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ส่วนประเด็นรองลงมาเป็นการให้บริการเพื่อสันทนาการ แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการตั้งอุทยานแห่งชาติ ในการกอบโกยรายได้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ”
ทำ EIA ให้ผ่าน ไม่ยาก แต่เสียงต้านหนัก อาจต้องถอย
โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นเขาภูกระดึง คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2555 เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการหรือกิจการ ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะดำเนินการก่อสร้าง
“แต่ที่ผ่านมาหากเป็นโครงการของรัฐแล้ว มักจะผ่านความเห็นชอบเกือบทุกโครงการ ดังนั้นการทำรายงาน EIA ให้ผ่าน จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ ระดับแค่นี้ ยกเว้นจะมีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก จึงจะยอมถอย”.
…