เคาะค่าแรงขั้นต่ำปี 67 ภูเก็ตปรับมากสุด 16 บาท ค่าจ้างสูงสุดได้แค่ 370 บาท
“บอร์ดค่าจ้าง” มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด 2-16 บาท ภูเก็ตเป็นเพียงจังหวัดเดียวได้ปรับสูงสุด 16 บาท ส่งผลให้ค่าจ้างสูงสุดในประเทศ 370 บาท ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปรับขึ้นเพียง 2 บาท ด้าน กทม.และปริมณฑลปรับขึ้น 10 บาท ค่าจ้างขยับขึ้นเป็น 363 บาท ปลัดกระทรวงแรงงานเผยนายจ้างไม่เห็นด้วยทำให้ค่าจ้างไปไม่ถึง 400 บาท เตรียมชง ครม.เห็นชอบ 12 ธ.ค. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ เป็นของขวัญปีใหม่ 1 ม.ค.2567
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ธ.ค. คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด) ชุดที่ 22 ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ตามที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดเข้าสู่การพิจารณา มีบอร์ดค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาลเข้าร่วมประชุมครบทุกคน ใช้เวลาประชุม 5 ชั่วโมงได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ
นายไพโรจน์แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 2 ถึง 16 บาทหรือเฉลี่ยร้อยละ 2.37 แบ่งเป็น 17 อัตรา มีอัตราสูงสุด 370 บาท ในจังหวัดภูเก็ต อัตราต่ำสุด 330 บาท ในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี จะนำเข้าสู่การพิจารณา ครม.ในวันที่ 12 ธ.ค. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้บางจังหวัดได้น้อยบางจังหวัดได้มากเป็นการปรับเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อัตราการจ้างงาน บนพื้นฐานของความเสมอภาค รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ได้
สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างแบ่งเป็น 17 กลุ่ม คือ อัตรา 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต อัตรา 363 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร อัตรา 361 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง อัตรา 352 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อัตรา 351 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม อัตรา 350 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ อัตรา 349 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี อัตรา 348 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี นครนายก หนองคาย อัตรา 347 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตราด อัตรา 345 บาท 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก พิษณุโลก
อัตรา 344 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร สุรินทร์ อัตรา 343 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ลำพูน นครสวรรค์ อัตรา 342 บาท 5 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ อัตรา 341 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ อ่างทอง อัตรา 340 บาท 16 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ราชบุรี อัตรา 338 บาท 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง น่าน พะเยา แพร่ อัตรา 330 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงเช้า รมว.แรงงาน บอกว่ามีหลายจังหวัดไม่ขอปรับขึ้นรวมทั้งภูเก็ต นายไพโรจน์ ตอบว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดพิเศษไม่เหมือนจังหวัดอื่น มีการท่องเที่ยวมากที่สุด ด้านเกษตรกรรมน้อยมาก ภาคธุรกิจมีการจ้างงานเกิน 400 บาทอยู่แล้ว ค่า ครองชีพของภูเก็ตสูงกว่าใน กทม.และชลบุรี อัตราที่เพิ่มขึ้น 370 บาท จึงเหมาะสมที่สุด ส่วนใน กทม.และปริมณฑลครั้งนี้ใช้เวลาคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมงจึงได้ข้อสรุป ให้อยู่ในอัตราเดียวกันที่ 363 บาท ส่วนที่ค่าจ้างยังไม่ถึง 400 บาท ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ ยังไม่ใช่การปรับครั้งนี้เพียงครั้งเดียวในปีหน้าอาจจะถึงหรือใกล้เคียง 400 บาทก็ได้ แต่การพิจารณาต้องขึ้นอยู่กับไตรภาคี
นายวีระสุข แก้วบุญปัญ บอร์ดค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ถามว่าจำนวนที่ได้พอใจไหมคงไม่พอใจ สภาพเศรษฐกิจวันนี้ได้วันละ 400 บาท ยังไม่พอแต่ก็ต้องมองถึงภาวะเศรษฐกิจเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้เพราะหากนายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้ทำงานแทน คนจะเดือดร้อนจึงต้องคุยกันด้วยเหตุผล ใน กทม.และปริมณฑล อนุกรรมการเสนอตัวเลขมาเหลื่อมล้ำกันทำให้แต่ละจังหวัดมีอัตราค่าจ้างต่างกัน ปกติการปรับค่าจ้างทุกปีจะอยู่ในอัตราเดียวกันจึงได้คุยกับฝ่ายนายจ้างให้มาอยู่ในอัตราเท่ากันเหมือนเดิม ขณะที่นายอรรถยุทธ ลียะวณิช บอร์ดฝ่ายนายจ้าง กล่าวเสริมว่า ค่าจ้างเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ 8-10 บาท สูงสุด 16 บาท เพื่อให้นายจ้างอยู่ได้คนงานก็จะดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นมติเอกฉันท์ทุกจังหวัดและนายจ้างพอใจ ส่วน 400 ที่อยากได้ไม่ใช่นึกจะขอก็ขอจะให้ก็ให้ เป้าหมายที่อยากได้ไปถึงแน่แต่จะถึงเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้เข้ามาในห้องประชุมกล่าวทักทายบอร์ดค่าจ้าง พร้อมบอกว่าไม่มีการเข้ามาชี้นำอะไร ค่าจ้างแต่ละจังหวัดจะเป็นการตัดสินใจของบอร์ดไตรภาคี หลังออกจากห้องได้เผยว่า มี 5 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าจ้าง 1 ในนั้นเป็นจังหวัดภูเก็ต เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และจะต้องปรับขึ้นในทุกจังหวัด มากน้อยแตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ ให้เกิดสมดุลและรักษาการจ้างงาน ส่วนจะมีจังหวัดใดได้ปรับขึ้นถึง 400 บาทหรือไม่เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี