ขอเพิ่มเงินคนพิการ วอนอยู่ยาก 800 บาท/เดือน แบกหนี้ค่าดูแลหนัก
เงินช่วยเหลือผู้พิการ 800 บาท/เดือน ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพปัจจุบัน เฉลี่ยตกวันละ 28 บาท ยิ่งผู้พิการบางรายต้องมีผู้ดูแล ทำให้ครอบครัวต้องแบกรับรายจ่ายมากกว่ารายรับ ขณะงานของผู้พิการยังถูกจำกัด ทำให้ไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม
กัชกร ทวีศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงานเสวนา “จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนของแม่ และคนดูแลอย่างไรในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ว่า ตอนนี้จำนวนประชากรไทย ที่เป็นคนพิการกว่า 2 ล้านคน เป็นผู้หญิงพิการ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและชนบท และมีคนอีกกลุ่มที่ไม่ถูกพูดถึงคือผู้หญิงที่เป็นแม่ ซึ่งต้องดูแลลูกพิการ ยังไม่เคยถูกกล่าวถึง ต้องเผชิญปัญหามากมาย เราพยายามรณรงค์ให้มีความเข้าใจทางสังคมและรัฐต้องเข้าใจถึงปัญหา

สิ่งแรกคือ การเข้าถึงกายอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพของคนกลุ่มนี้ ตลอดจนเรื่องการศึกษาที่เข้าถึงคนพิการ นอกจากนั้นในเรื่องการจ้างงานคนพิการยังผูกติดอยู่กับภาครัฐและเอกชน
เงินรายได้เดียวมาจาก เงินคนพิการ 800 บาท หรือ 28 บาทต่อวัน จึงมีจำนวนคนพิการ ผู้ดูแล และผู้หญิงอีกจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์เหล่านี้ จึงอยากเรียกร้องของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้แม่และคนทำงานดูแลด้วย

บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่งบประมาณสำหรับแม่และคนดูแลไว้โดยเฉพาะ คำว่าคนทำงานดูแลแทบหาไม่เจอในเอกสารทางการของรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม งบประมาณในการดูแล จึงกระจัดกระจายและซ้ำซ้อน
จากการรวบรวมงบประมาณ โดยใช้คีย์เวิร์ดในเรื่องสตรี มารดา ผู้พิการ เด็กเล็ก ที่เป็นเป้าหมายที่ควรได้รับการดูแล มีงบประมาณในการดูแล 557 ล้านบาท ถ้าลงไปดูจากโครงการต่างๆ มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นงบประมาณที่จ่ายตรงให้กับคนที่เป็นผู้ดูแล เช่น เงินอุดหนุนเด็ก เงินสงเคราะห์บุตร หรือเด็กในครอบครัวอยากจน

ที่น่าตกใจคือ แนวโน้มของสัญญาณว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีสภาพแวดล้อม หรือการสนับสนุนเพียงพอให้คนมีลูก ไม่ว่าจะเป็นงบอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรืองบประมาณประกันสังคม ซึ่งทั้ง 2 ก้อนนี้ลดลงตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนเงินอุดหนุนเด็กมีเด็กที่ควรได้รับเงินหายไปประมาณ 1.2 แสนคน ส่วนเงินประกันสังคม เงินสงเคราะห์บุตรลดลง สะท้อนว่าคนไม่ได้อยากเป็นแม่แล้ว
อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ(UN Human Rights Expert- WGEID) กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหามันมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกำหนดบทบาทผู้หญิงผู้ชายในครอบครัว โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่ผู้หญิงถูกกำหนดว่าต้องมีบทบาทอย่างไร และมักถูกตีตราถ้าผู้หญิงไม่ได้ดำเนินบทบาทที่ค่านิยมทางสังคมกำหนดไว้ งานของผู้หญิงที่ต้องทำในบ้าน วันนี้เราได้ยินมาว่าคำว่าผู้ดูแล ซึ่งคนที่รับจ้างดูแลจะได้รับค่าตอบแทน แต่พอพูดถึงคนที่อยู่ในบ้าน ภาระทั้งหมดถูกมองมาที่ผู้หญิง ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยง แต่หาแล้วเลี้ยงหรือไม่นั้นไม่สามารถรับประกันได้ ส่วนตัวมองว่าเรามีเครื่องมือพอสมควรในการที่จะเริ่มต้นดูแลเรื่องนี้ได้ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติจริงในกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ

“ที่สำคัญรัฐต้องยอมรับบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย รัฐบาลไทยให้คำมั่นต่อสหประชาชาติครั้งแรกเมื่อปี 2548 ในเรื่องมาตรการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน แต่จนถึงวันนี้เรายังไม่มีอะไรเลย ในขณะที่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกด้อยค่า โดยใช้เพศเป็นเป็นเครื่องมือในการด้อยค่าผู้หญิง ตรงนี้รัฐจะต้องไม่อดทนในการปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น และต้องมีกลไกที่ส่งเสริมคุ้มครองให้ผู้หญิงมีความเข้มแข็งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศด้วย สนับสนุนส่งเสริมผู้หญิง ไม่ใช่คาดหวังต่อผู้หญิงในขณะที่รัฐเองกลับไม่ได้สนับสนุนเท่าที่ควร รัฐบาลมีแผนมากมายเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะทำเสียที”.