ข่าวทั่วไป

ดัชนีเด็กไทยเกิดน้อย ซ้ำปัญหาสังคมสูงอายุ

สถานการณ์ “ประชากร” ของ ประเทศไทย เมื่อเอาสถิติข้อมูลประชากรจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยมาวิเคราะห์ดูแล้วเราจะเห็นว่า ประชากรตามทะเบียนราษฎรในปี 2565 มีอัตราเพิ่มติดลบ…จำนวน “เกิด” น้อยกว่าจำนวนคน “ตาย” ประมาณเกือบ 9 หมื่นคน

เด็กเกิด 5 แสนคน…คนตายเกือบ 6 แสนคน

คิดเป็นอัตราเพิ่ม (ไม่รวมการย้ายถิ่นเข้าออกประเทศ) ประมาณร้อยละ -0.02 หมายความว่า…ประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร ของประเทศไทยกำลังลดลงแล้ว

น่าสนใจด้วยว่าอัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบเป็นปีที่ 2 และยังมีแนวโน้มว่าปี 2566 นี้อัตราเพิ่มประชากรจะยังคงติดลบต่อไปอีกเป็นปีที่ 3

ตามที่ “สถาบันวิจัยประชากรและสังคม” เฝ้าติดตามจำนวนเกิดและตายในแต่ละเดือนของปี 2566 เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมมีเด็กเกิดแล้ว 291,534 คน และมีคนตายไปแล้ว 341,702 คน คนตายมากกว่า คนเกิดเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นจำนวนมากถึง 5 หมื่นรายแล้ว!

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานข้อมูลสถิติ ประชากรของประเทศไทยที่น่าสนใจไว้มากมายเมื่อ 50-60 ปีก่อน คงไม่เคยมีใครคิดว่าจำนวน “เด็กเกิด” จะลดน้อยลงมากมายขนาดนี้

ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเริ่มนโยบายประชากรที่จะชะลออัตราเพิ่มโดยใช้โครงการวางแผนครอบครัวด้วยระบบสมัครใจ เพราะอัตราเกิดสูงมากเหลือเกิน ระหว่างปี 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดในแต่ละปี เกินกว่า 1 ล้านคน ในปี 2514 มีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

คือ…มากถึง 1 ล้าน 2 แสนกว่าคน

พวกเราลองคิดดูว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ในปี 2565 มีเด็กเกิดเพียง 5 แสนคน คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 40 ของการเกิดในปีที่เด็กไทยเกิดมากที่สุดเท่านั้น มาดูสถิติจำนวนคนตายบ้าง เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ละปีมีคนตายไม่ถึง 3 แสนคน แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้จำนวนคนตายเพิ่มขึ้น

ในปี 2564 คนไทยตาย 5 แสน 5 หมื่นคน…ปี 2565 จำนวน คนตายเพิ่มขึ้นเกือบแตะหลัก 6 แสนคนแล้ว และยังมีแนวโน้มว่าจำนวนคนตายในปี 2566 นี้จะยังเพิ่มขึ้น…คนตายมากกว่าคนเกิดจนทำให้อัตราเพิ่มประชากรติดลบเป็นปีที่ 3 อย่างแน่นอน

ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล วารสารออนไลน์ “ประชากรและการพัฒนา” ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 ลงรายละเอียดข้างต้นนี้ไว้ในเรื่อง “เห็นใจผู้สูงอายุ ที่ต้อง
เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ” สะท้อนข้อมูลสำคัญไว้อีกว่า

“ประชากรไทย”…มีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบ ซึ่งเท่ากับประชากรไทยที่ไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้า…ออกที่เป็นแรงงานข้ามชาติกำลังลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราเพิ่มประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ประชากรยิ่งอายุมากยิ่งเพิ่มเร็ว ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี ในขณะที่ประชากรสูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี

ไม่น่าแปลกใจนะครับ ที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเร็วยิ่งขึ้นอีกในช่วงเวลาตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอให้นึกภาพดูนะครับ ประชากรรุ่นเกิดปี 2506-2526 ที่เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” ปีนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ (60 ปี) เป็นปีแรก

นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป แต่ละปีๆจะมีคนไทยกลายเป็น “ผู้สูงอายุ” ตามคำจำกัดความที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคืออายุ 60 ปี ปีละ ไม่ต่ำกว่า 8 แสนคน อีก 20 ปีข้างหน้า คลื่นยักษ์ประชากรลูกนี้ก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด

ดังนั้นอีก 20 ปีข้างหน้า เราจึงมองเห็นภาพประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” อย่างแน่นอน 1 ใน 3 ของคนไทย จำนวนประมาณ 60 ล้านคน จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างที่เคยเขียนไว้ใน “ประชากรและการพัฒนา” หลายครั้งว่า ประชากรอายุสูงขึ้น ก็จะมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถพึ่งตัวเองได้เพิ่มสูงขึ้น

“คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆของร่างกายก็จะเสื่อมสภาพลง ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย เช่น โรคหัวใจเบาหวาน ความดันเลือดก็จะเพิ่มสูงขึ้น ความปรารถนาของพวกเราทุกวันนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ตัวเองเป็นอิสระยืนอยู่บนขาของตัวเองได้”

คือ…ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กิน ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว เดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งคนอื่นให้นานที่สุด เป็นตัวของตัวเองไปจนหมดลมหายใจ แล้วจากไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน น่าจะเป็นยอดปรารถนาของทุกคน

“ผู้สูงอายุต้องดูแลผู้สูงอายุ”…คนเราถึงจะมีบุญวาสนามากมายเพียงใดก็ตาม ก็อาจต้องมีระยะเวลาหนึ่งในชีวิตที่จะต้องพึ่งพาคนอื่น คือต้องมีผู้ดูแลในยามที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน

เมื่อครั้งสังคมไทยยังประกอบไปด้วยครอบครัวขยาย คนที่จะช่วยดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุก็จะเป็นคนในครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง คนจำนวนมากไม่แต่งงาน คนที่แต่งงานแล้วมีลูกน้อยลงหรือไม่มีลูกเลย เราจึงมองเห็นภาพผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังมากขึ้น

ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส หรือผู้สูงอายุอยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันโดยไม่มีคนรุ่นอื่นอยู่ด้วย ถ้าผู้สูงอายุมีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็อาจใช้บริการการดูแลผู้สูงอายุได้ไม่ยากนัก ทุกวันนี้ผมได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้สูงอายุทำหน้าที่เป็น ผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน

ตัวอย่างเช่น…ลูกที่เป็นผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อ…แม่ น้องชายที่เป็นผู้สูงอายุดูแลพี่ชายซึ่งป่วยติดเตียง…น้องสาวที่เป็นผู้สูงอายุดูแลพี่สาวสูงอายุที่ป่วยเป็นหลายโรค…สามีผู้สูงอายุดูแลภรรยาสูงอายุที่ป่วยติดเตียง การดูแลผู้สูงอายุรายต่างๆเหล่านี้เกือบทุกรายใช้วิธีการจ้างผู้ดูแล

แต่ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องคอยกำกับดูแลคนที่จ้างมา ช่วยงานนั้นอยู่ด้วย แต่มีบางรายที่ผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุโดยไม่มีผู้ช่วย การจ้างคนมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยนะครับ ถ้าจ้างคนมาจากศูนย์บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุก็เสียค่าบริการเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท

อาทิตย์หนึ่งต้องให้ผู้ดูแลหยุด 1 วัน ถ้าให้เขาทำงานในวันหยุด ก็ต้องจ่ายค่าจ้างพิเศษ ค่าจ้างผู้ดูแลจะไม่รวมค่าอาหาร เวชภัณฑ์สุขภัณฑ์ (ผ้าอ้อม) ฯลฯ สำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เท่าที่ได้ฟังคำบอกเล่ามา เมื่อเริ่มรับภาระหน้าที่นี้แรกๆจะเครียดมาก

…กว่าที่จะปรับตัวได้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ฝากทิ้งท้ายว่า ถ้าไม่อยากเป็นผู้ได้รับการดูแลซึ่งจะเป็นภาระที่หนักมากของผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลเรา วันนี้เราก็ต้องทำตัวให้มีอายุยืนยาวขึ้นในแต่ละวันๆอย่างมีสุขภาพดี

“…รู้จักกิน รู้จักพักผ่อน ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานอยู่เสมอ พยายามส่งเสริมสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เรามีพลังไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต”.

Tags
การเกิดดัชนีเด็กไทยประชากรไทยเด็กไทยเกิดเด็กไทยเกิดน้อย

เรื่องอื่นๆ แนะนำต้องดู

Back to top button