ข่าวทั่วไป
กินอาหารอย่างไร เมื่อเป็น “กรดไหลย้อน”
ผู้ป่วยกรดไหลย้อน นอกจากต้องปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตแล้ว ควรปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารด้วย
คุณศิริกานต์ นารี นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคกรดไหลย้อน เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ไม่สามารถกันให้กรด น้ำย่อย หรืออาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
อาหารที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยง
- อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น ของทอด นม เนย และชีส
- อาหารที่ทำให้เกิดกรด และแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ของหมักดอง อาหารรสจัด และถั่ว
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชาและกาแฟ
วิธีป้องกันไม่ให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบ
ศ.พญ.ดวงพร วีระวัฒกานนท์ แพทย์ฝ่ายสรีรวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุวิธีปรับพฤติกรรมป้องกัน และรักษากรดไหลย้อน
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยลดภาวะการทำงานของกระเพาะอาหาร
- ไม่กินอาหารมากจนเกินไป เพื่อให้กระเพาะอาหาร ทำงานไม่หนักมาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ย่อยยาก อาหารมัน เช่น ช็อกโกแลต
- ลดการรับประทานครั้งละมากๆ มื้อใหญ่ๆ ลดอาหารมื้อดึก
- หลังมื้ออาหารควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ย่อยอาหาร
- ควบคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนักในคนที่มีภาวะอ้วน
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม กาแฟ
- ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดช่วงเอวมากเกินไป
- ท่านอนที่ดี คือการนอนตะแคงซ้าย
- นอนยกศีรษะสูงขึ้น โดยใช้หมอนที่เอียงสูงขึ้น 45-60 องศา