ลมหนาวมาแล้ว เช็กชัดๆ ใครบ้างที่ต้องเฝ้าระวัง “โรคติดเชื้อทางระบบหายใจ”
- สภาพอากาศเย็นชื้น ทำให้เชื้อโรคมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ
- ไขข้อสงสัย โรคที่มาพร้อมกับลมหนาว เช็กสาเหตุ อาการ แนวทางการรักษาของแต่ละโรค
ภายหลังจาก “กรมอุตุนิยมวิทยา” ได้ประกาศเริ่มต้นฤดูหนาว ปี พ.ศ. 2566 โดยปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยอุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนจะลดลงต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นในหลายพื้นที่
เมื่อสภาพอากาศเริ่มเย็นชื้น ทำให้เชื้อโรคมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้หวัด, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคไวรัสโควิด-19, โรคปอดบวม เป็นต้น
ขณะที่ พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรค ระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ไขข้อสงสัยโรคที่มาพร้อมกับลมหนาว พร้อมอธิบายสาเหตุอาการ แนวทางการรักษาของแต่ละโรค สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
-
โรคไข้หวัด
มีสาเหตุมาจาก เชื้อไวรัส โดยจะมีอาการ ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ซึ่งอาการมักดีขึ้นเอง และหายได้เอง ภายใน 1 สัปดาห์ รักษาตามอาการ ด้วยการรับประทานยา
-
โรคไข้หวัดใหญ่
สาเหตุมาจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอาการคือ ไข้สูง ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว อาการมักรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัด ในประชากรกลุ่มความเสี่ยงสูงอาจมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม
สำหรับการรักษา กรณีกลุ่มเสี่ยงต่ำ คือรับประทานยา รักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามความเหมาะสม ส่วนกรณีกลุ่มเสี่ยงสูง (โรคอ้วน BMI มากกว่า 30 mg/kg2, หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 14 วัน มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบ หรือ มากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน) ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ไม่ควรเกิน 48 ชม. หลังจากที่แสดงอาการ
-
โรคไวรัส “โควิด-19”
สาเหตุจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีอาการไข้สูง ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว โดยการรักษา กรณีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รับประทานยา รักษาตามอาการ อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสตามดุลยพินิจของแพทย์
แต่กรณีมีอาการ ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสําคัญ หรือ ปอดอักเสบ (Pneumonia) ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด
-
โรคปอดบวม
มีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อที่ปอด มีอาการไข้ ไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (Mycoplasma) และเชื้อรา เมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอดและเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลม ปอด ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย สำหรับการรักษา ขึ้นกับเชื้อที่ก่อโรค ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตามความเหมาะสม
โรคที่เสี่ยงโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว
โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมโป่งพอง ช่วงหน้าหนาวจะกระตุ้นให้มีอาการกำเริบ ควรสังเกตอาการ ใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง และรู้วิธีปฏิบัติตัวเพื่อรักษาอาการเบื้องต้น กรณีอาการไม่ตอบสนองต่อยาบรรเทาอาการควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาตามความเหมาะสม
โรคภูมิแพ้ เกิดอาการคัดจมูก คันตา จาม น้ำมูก ผื่น อาการมักรุนแรงขึ้น หรือมีปัจจัยส่งเสริมจาก ฝุ่น PM 2.5 แนะนำรับประทานยา หรือพ่นยารักษาตามอาการร่วมกับหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น
ปอดแข็งแรงต้อนรับหน้าหนาว
- รักษาสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฉีดวัคซีนป้องกัน
- หลบเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย หรือป้องกันอย่างเหมาะสมเวลาสัมผัสผู้ป่วย ไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนหนาแน่น อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า
อย่างไรก็ตาม การป้องกันและดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท จะทำให้หนาวนี้ผ่านไปอย่างแสนสุข.