เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง
ตำนานนี้ นายหยวย แซ่กัว ได้เขียนขึ้นตามคำบอกเล่าของผู้อาวุโสหลายท่าน พอเชื่อถือได้ เขียนด้วยภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายและได้สรุปเรื่องย่อไว้ในสูจิบัตรงานเจ้าพ่อเจ้าแม่เมื่อปี พ.ศ.2426
ชาวจีนในตลาดชุมแสง จ.นครสวรรค์ ได้เล่าขานประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงสืบทอดกันมาว่า
มีขอนไม้ลอยตามลำน้ำน่าน วนเวียนทวนน้ำอยู่บริเวณปากคลองจระเข้เผือก วนเวียนมาด้านท้ายตลาด ซึ่งแม่น้ำส่วนนี้เป็นแนวโค้ง เจ้าพ่อได้ประทับเข้าทรงชาวบ้าน ให้นำขอนไม้นี้ขึ้นมา และนำไปแกะสลักเป็นองค์เจ้าพ่อ และมาสร้างเป็นศาลเล็กๆอยู่บริเวณปากคลองจระเข้เผือก
ตำนานเจ้าพ่อคลองจระเข้เผือกยังเล่าขานสืบต่อไปว่า เจ้าพ่อได้เกิดมีความรักกับเจ้าแม่เกยไชย อยู่ที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง ขอให้ผู้นำชาวตลาดไปสู่ขอเจ้าแม่เกยไชย
โดยชาวตลาดชุมแสงได้ยกขบวนขันหมากไปทางเรือไปสู่ขอและแต่งงานกับเจ้าแม่เกยไชย และอัญเชิญเจ้าแม่เกยไชยมาประทับอยู่ที่ชุมแสงกับเจ้าพ่อ และได้แกะสลักไม้เป็นองค์เจ้าแม่ขึ้นมาใหม่คู่กับองค์เจ้าพ่อ
ศาลเจ้าพ่อคลองจระเข้เผือกจึงเปลี่ยนมาเรียกขานว่า “ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง” มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ชาวชุมแสงประจักษ์ดี และเคารพเลื่อมใสนับถือมากๆ เห็นจะเป็นเรื่อง ไฟไหม้ตลาด จะเห็นว่ารอบๆเมืองชุมแสง เช่น ปากน้ำโพ บางมูลนาก ตะพานหิน และพิจิตร เกิดไฟไหม้ตลาดมาแล้ว
ส่วน “ตลาดชุมแสง” เคยเกิดไฟไหม้ขึ้นหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไฟก็ดับลงได้ทุกครา จนชาวตลาดเชื่อว่าเป็นบารมีของเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงช่วยคุ้มครอง
ในแต่ละปีชาวชุมแสงจะจัดงานสมโภชเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง เป็นการจัดงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของชาวชุมแสง นับเนื่องเป็นเวลากว่า 140 ปี
ปีนี้ชาวชุมแสงรวมพลัง จัดงานประเพณีเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงขึ้น เริ่มวันที่ 7–12 ธ.ค.66 และวันที่ 9 ธ.ค.มีขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่รอบตลาดชุมแสงที่ยิ่งใหญ่เช่นเคย
มาเที่ยวงานเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงสักหนจะประทับใจยิ่งนัก.