เปิดปมยาบ้าระบาดไทย ตลาดใหญ่ไม่ใช่ทางผ่าน
เคาะข้อสรุปการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องได้รับการบำบัดโดยไม่ต้องโทษจำคุกหลัง ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อร่างเป็นกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษออกฤทธิ์สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …
เพราะด้วยที่ผ่านมา “ประเทศไทย” ยังไม่เคยมีการกำหนดการครอบครองเพื่อเสพไว้ชัดเจน ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทำงานยากในการดำเนินคดีผู้เสพผู้ใช้ยาบ้านี้ จนทำให้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 “กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขออกเป็นกฎหมายลูกใน 2 ปี” ที่จะครบวาระในวันที่ 8 ธ.ค.2566
ขั้นตอนต่อไปก็จะนำมติเสนอ “รมว.สาธารณสุข” ออกเป็นร่างประกาศกฎกระทรวงนำเข้าสู่ขั้นตอนประชาพิจารณ์ และเสนอต่อ ครม.ในเรื่องนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า
ปกติตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯกำหนดโทษไว้ตั้งแต่การเสพ การครอบครองเพื่อเสพ การครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่าย และการผลิต อันมีโทษหนักขึ้นไปตามลำดับ โดยกฎหมายบังคับใช้อยู่นี้ “กำหนดการครอบครองยาบ้าเกิน 15 เม็ด” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่วย
แต่เพื่อการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก “กระทรวงสาธารณสุข” จึงมีแนวคิดปรับเกณฑ์การครอบครองยาบ้าไม่เกิน 10 เม็ดเป็นผู้เสพ จนเกิดเสียง วิพากษ์วิจารณ์เกรงว่า “จะเพิ่มช่องทางให้ครอบครองเพื่อจำหน่าย” ที่ไม่ต้องโทษเพียงฐานะผู้เสพถูกส่งตัวไปบำบัด ก่อนมีข้อสรุปกำหนดให้ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ
ถ้าย้อนดูหลักเกณฑ์ “ผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดนั้น” ตามกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.สมัครใจเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล ต่างๆ กลุ่มนี้มีการสมัครใจค่อนข้างน้อยมาก 2.ระบบบังคับ ด้วยการใช้กฎหมาย ให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จัดตั้งขึ้น
ปัญหามีอยู่ว่า “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เพียงพอ” ส่งผลให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถเข้ารับการบำบัดได้อย่างเหมาะสม ทำให้บางส่วนถูกส่งไปรับการฟื้นฟูในค่ายทหารเพื่อให้เลิกยา และยังมีบางส่วนถูกส่งไปบำบัดตาม “วัด” กินยาตัดให้อาเจียนล้างพิษ สิ่งนี้ล้วนเป็นการบำบัดยาเสพติดที่ไม่ได้มาตรฐาน
กลายเป็นช่องโหว่ “เกิดตลาดนัดยาเสพติด” ที่ผู้เสพมีโอกาสพูดคุยแลกเบอร์ติดต่อหาแหล่งยา สร้างเครือข่ายใหม่ภายในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพที่จัดตั้งขึ้น “จนไม่อาจบำบัดได้จริง” แถมยิ่งทำให้ยาบ้าเพิ่มเยอะขึ้น
หนำซ้ำยังเป็นการปล่อยให้ “ผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ถูกคุมประพฤติไปอยู่ในชุมชน” ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อล่อเหตุร้ายแรงเนื่องจาก “ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ” อันเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลัก วิ่ง ชิง ปล้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมอีกมากมาย
ดังนั้น กรณี “กระทรวงสาธารณสุข” มีนโยบายจะจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาว 76 จังหวัด ในเรื่องนี้มองว่าค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะการตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ หลายสาขา เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และการจัดตั้งสถานที่ที่อาจต้องใช้งบประมาณมหาศาล
เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อความปลอดภัย “รัฐบาล” ต้องแยกผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกจากสังคม ด้วยการจัดสรรงบประมาณสร้างโรงพยาบาลบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพในเรือนจำ “อันเป็นสถานที่ระบบปิด” ทั้งยังต้องจัดสรรบุคลากร และผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมผู้ต้องขังติดยาให้เข้มแข็ง
เนื่องจาก “ผู้ต้องขังติดคุกในเรือนจำมากกว่า 80% เป็นเรื่องยาเสพติด” แล้วถ้าใกล้ครบกำหนดพ้นโทษก็ต้องเตรียมพร้อมก่อนปล่อย ในการส่งเสริม องค์ความรู้ด้านทักษะชีวิต ทักษะสังคม และช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษา เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข รวมถึงเป็นการป้องกันไม่ให้หวนกลับไปใช้ยาซ้ำอีก
จริงๆแล้ว “การบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด” เป็นเพียงการแก้ปัญหา ในปลายเหตุเท่านั้น เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า “ต้นเหตุของปัญหายาเสพติดระบาดในไทยนั้น” มีฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชายแดนไทย อันเป็นแหล่งจุดผลิตยาบ้าขนาดใหญ่ที่สุด และถูกลักลอบลำเลียงเข้าสู้พื้นที่ตอนในของประเทศอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญคือ “สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ใช้สำหรับผลิตยา” ตามการตรวจสอบปรากฏพบว่า “ถูกส่งออกจากประเทศไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน” เมื่อผลิตยาเสร็จแล้วก็ส่งกลับเข้ามาในบ้านเราเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การขายปลีกราคาถูกเม็ดละ 30 บาท และแถมมีการผสมสารเคมีเข้มข้น เพื่อให้ คนเสพติดได้ง่ายกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ
“ปัจจุบันคนไทยเสพยาบ้า 3 ล้านคน ถ้าเทียบ 1 เดือน ใช้ยาบ้า 90 ล้านเม็ด ขายราคาเม็ดละ 30 บาท จะมีมูลค่า 2.7 พันล้านบาท และในปีหนึ่ง ใช้ยา 1 พันล้านเม็ด ต้องเผาเงินหลายหมื่นล้านบาท แล้วความจริงตัวเลขยาบ้าก็มีมากกว่านั้น ทำให้เป็นสิ่งของหาง่าย ราคาถูก และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้” พล.ต.ต.วิชัย ว่า
ทว่าสาเหตุ “ยาบ้าระบาดในไทย” ส่วนหนึ่งมาจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหย่อนยาน แล้วยิ่งกว่านั้นปรากฏทางการข่าวพบว่า “ยาบ้าบางส่วนผลิตในประเทศ” โดยผู้ผลิตใช้วิธีการผลิตในรถดัดแปลงพิเศษเคลื่อนไปเรื่อยๆ แม้แต่ละเดือนจะมีการจับกุมยาบ้าได้หลายล้านเม็ด แต่ก็เป็นเพียงรูปแบบการล่อซื้อเทียม
ด้วยผลพวงมาจาก “ตำรวจต้องการผลงาน” มักล่อซื้อจากผู้ขายที่ว่าจ้างให้คนส่งนำยามาให้สายลับทำการจับกุมที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น “มักเป็นคนส่งยา” ส่วนผู้จำหน่วยรายใหญ่ยังคงลอยนวลส่งยาบ้าเข้ามาพักในพื้นที่ จ.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯบางส่วนกระจายลงภาคใต้และภาคอื่นๆด้วย ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเป็นตลาดใหญ่ในการเสพยาบ้า “มิใช่เป็นทางผ่านไปประเทศที่ 3” เพราะประเทศอื่นไม่นิยมเสพยาบ้ากัน
เช่นนี้ “รัฐบาล” จำเป็นต้องทำหน้าที่ไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกันนี้ทหาร ตำรวจ ต้องตั้งแนวสกัดกั้นตามแนวชายแดนให้เข้มงวด ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องตรวจสอบคัดกรองลูกบ้านทุกครัวเรือน ควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้โทษภัย และการป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ควรนำมาตรการยึดทรัพย์เข้ามาใช้จริงจัง” เพราะผู้ค้ายาเสพติดมักกลัวทรัพย์สินหามาได้ถูกยึดไปจนหมด อย่างกรณี “ยุคทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ” ทำสงครามกับยาเสพติดประสบความสำเร็จ ได้ก็ด้วยนโยบายปราบปรามครบวงจรและควบคู่กับการยึดทรัพย์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด
ย้ำการแก้ปัญหายาเสพติดให้ลดน้อยลงได้ “ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันในหลายมิติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด “ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ” เริ่มป้องกันที่ต้นน้ำในการสกัดกั้นแหล่งผลิต การส่งออกสารตั้งต้น การกระจายมายังพื้นที่ตอนใน จนถึงระยะสุดท้ายที่ยึดนำมาเผาทำลายและการยึดทรัพย์
ประการถัดมา “ยกระดับบทลงโทษ” ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามทุกระบบอย่างเข้มข้น และต้องเพิ่มโทษข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน สิ่งนี้จะช่วยให้ข้าราชการไม่กล้ายักคิ้วหลิ่วตาช่วยเหลือผู้กระทำผิด เช่น สมมติพื้นที่ใดมีการจับกุมยาบ้า 1 แสนเม็ดขึ้นไป
ไม่ว่าจะเป็น “ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ต้องถูกย้ายออกนอกพื้นที่” ถ้าทำแบบนี้ได้ผู้บังคับบัญชาจะเข้มงวดในด้านการปราบปรามยาเสพติดแน่นอน เพราะผู้ถูกโยกย้ายจากสาเหตุเกี่ยวกับยาเสพติดมักกระทบต่ออาชีพข้าราชการหลายมิติ แล้วในส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ต้องสอดรับเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
นอกจากนี้ “ประชาชนต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการชี้เป้าการจับกุม” ทั้งยังต้องให้ความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยของยาเสพติด “เริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน” ทั้งยังต้องใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น ให้สังคมไทยเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายจากยาเสพติดนี้เพิ่มขึ้น
ฉะนั้นเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน “ทำการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกระบบ” ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทยได้อย่างแน่นอน.