อย่าพลาด “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หลังเที่ยงคืน 17 พ.ย. ถึงรุ่งเช้า 18 พ.ย.
ได้เวลาจูงมือคนรักไปสวีต นั่งดู “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ “ราชาแห่งฝนดาวตก” หลังเที่ยงคืน 17 พ.ย. ถึงรุ่งเช้า 18 พ.ย. อัตราการตกสูงสุด 15 ดวงต่อชั่วโมง
วันที่ 15 พ.ย. 66 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนดูปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ระหว่างคืนวันที่ 17 พ.ย. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. อัตราการตกสูงสุด 15 ดวงต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 6-30 พ.ย. ของทุกปี ซึ่งในปี 2566 นี้ จะมีอัตราการตกสูงสุดหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย. เวลาประมาณ 01.00 น. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต ทางทิศตะวันออก ในคืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท โดยจะปรากฏให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟ พาดผ่านท้องฟ้า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากการเกิดฝนดาวตกจะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้าบริเวณกว้าง
โดยฝนดาวตกลีโอนิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) ที่มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 33 ปี ขณะที่โลกเคลื่อนผ่านวงโคจรของดาวหางดังกล่าว แรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดูด เศษหิน และเศษฝุ่น ที่หลงเหลือไว้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสี และเผาไหม้ ปรากฏให้เห็นเป็นแสงคล้ายลูกไฟสว่างวาบเคลื่อนผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์นั้นสวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก มีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที และความพิเศษของฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”
สำหรับคนที่สนใจ สามารถชมได้ในสถานที่ที่มืด ไม่มีแสงไฟรบกวนหรือห่างจากเมือง ควรใช้เวลาปรับสายตาในที่มืด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สายตาคุ้นเคยกับความมืด และให้นอนรอชมปรากฏการณ์ เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้าบริเวณกว้าง สำหรับการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้นแนะนำใช้เลนส์มุมกว้างและถ่ายภาพทั่วทั้งท้องฟ้า เพราะไม่สามารถระบุทิศทางได้ ต้องอาศัยการคาดเดาและเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง
นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่จะได้ชมกันในเดือนนี้แล้ว กลางเดือนธันวาคม 2566 ยังมี “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกคนคู่” ตั้งแต่คืนวันที่ 14 ธ.ค. ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 15 ธ.ค. อัตราการตกสูงสุดถึง 120-150 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ อีกทั้งปราศจากแสงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน ซึ่ง สดร.เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ในช่วงคืนดังกล่าว รอติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ