“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.สอบนายกฯ ปมกู้เงินแจก ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงปก

15 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าว กดติดตาม โซเชี่ยล ระยอง

“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต.สอบนายกฯ เศรษฐา-พรรคเพื่อไทย ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาแจก ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ตรงปก เหตุตอนหาเสียงเลือกตั้งมีการยืนยันว่านโยบายนี้ไม่มีการแจกเงิน ฉะนั้นมีความผิดหรือไม่

วันที่ 15 พ.ย. 66 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ อาคาร B นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง-นายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิด นายกฯ เศรษฐา และพรรคเพื่อไทย กรณีเคยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่กู้เงินมาใช้ในนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แต่กลับจะเสนอออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจก อันถือได้ว่าเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองตามกฎหมายเลือกตั้ง สส.หรือไม่

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้ลงนามในหนังสือที่ พท.0893/2566 เมื่อเดือนเมษายน 2566 ถึง กกต. เรื่อง การกำหนดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณาของพรรคเพื่อไทย ตามที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 บังคับไว้ในส่วนของการกำหนดนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องระบุ 3 เรื่อง คือ 1.วงเงินที่ต้องใช้ 2.ที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ และ 3.ความคุ้มค่า ประโยชน์ในการดำเนินการ และความเสี่ยง ซึ่งเป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปทั้งประเทศนั้น

หนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยได้จัดทำเอกสารชี้แจงไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านประเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ผ่านเทคโนโลยี Blockchain วงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินที่จะต้องใช้ดำเนินการว่า “ใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี” ประกอบด้วย 1) ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 260,000 ล้านบาท 2) ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท 3) การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท 4) การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งในเอกสารดังกล่าว รวมทั้งการโฆษณาหาเสียง และการให้สัมภาษณ์ หรือการแถลงชี้แจงนโยบายของพลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น ต่างยืนยันต่อสาธารณะ และสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า นโยบายแจกเงินดังกล่าว “ไม่มีการกู้เงิน” มาใช้จ่ายในนโยบายดังกล่าวโดยเด็ดขาด ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเชื่อมั่นในคำพูดในการหาเสียง จึงไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยจนได้ สส.มาเป็นอันดับ 2

แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กลับตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและสาธารณะว่าจะออก “พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” เพื่อนำมาแจกประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท/เดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท อันไม่เป็นไปตามการโฆษณาหาเสียง และไม่เป็นไปตามเอกสารการชี้แจงที่ให้ไว้ต่อ กกต.แต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวอาจถือเป็นการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ตาม ม.73(5) หรือ (1) ประกอบ ม.159 ของ พรป.ว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้ง สส.2561 หรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ เป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการสืบสวน หรือไต่สวนตามรัฐธรรมนูญ 60 ม.224 ประกอบ ม.226 และเสนอเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามครรลองของกฎหมายต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด.

แผนที่