อุทยานแห่งชาติทับลาน งดเยี่ยม “ลูกช้าง” หลงโขลง เหตุอาการขาหักยังไม่ดีขึ้น

13 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าว กดติดตาม โซเชี่ยล ระยอง

อุทยานแห่งชาติทับลาน ขอความร่วมมือผู้ไม่เกี่ยวข้อง งดเยี่ยม “ลูกช้าง” ที่พลัดหลงโขลง เนื่องจากอาการเจ็บขายังไม่ดีขึ้น เร่งวางแผนขั้นต่อไป เพื่อเตรียมการผ่าตัด

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงอาการของลูกช้างป่าเพศผู้แรกเกิด ที่พลัดหลงออกจากโขลง หลังออกจากป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าไปหากินภายในพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา

ซึ่งตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกช้าง มารักษาที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ ทล.08 (ตลิ่งชัน) ตรวจสอบพบว่าลูกช้างมีอาการหัวกระดูกต้นขาส่วนปลายหักผิดรูป ที่บริเวณขาหลังด้านขวา

ส่วนแผลถลอกตามร่างกาย พบว่ารอยเก่าเริ่มแห้งขึ้น ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ แต่มีรอยใหม่ที่เกิดจากการล้มตัวนอน สะดือที่ยังไม่ปิดสนิท มีขนาดโพรงแคบลง ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร และมีเนื้อเยื่อสร้างหนองด้านในปริมาณเล็กน้อย

สัตวแพทย์จึงล้างสะดือ ขัดหนองออก ใส่ยาฆ่าเชื้อต่อเนื่อง ส่วนตัวลูกช้างมีความอยากกินนมดี ดูดกินนมจากขวดเองได้ จึงได้ปรับปริมาณนมที่ให้กินต่อมื้อเพิ่มขึ้นตามแผนที่วางไว้ พร้อมเสริมวิตามินซี แคลเซียมแบบเม็ด ซึ่งลูกช้างก็สามารถกินได้ตามแผน

อย่างไรก็ตาม ลูกช้างยังมีอาการเจ็บขาหลังขวา โดยมีแนวโน้มของอาการรุนแรงขึ้นจากเดิม กล้ามเนื้อบริเวณโคนขาหลังขวาบวม โดยลูกช้างยังสามารถใช้ขาข้างที่เจ็บแตะพื้นได้บ้างในลักษณะย่อขา และลากขาเป็นระยะ แต่แสดงอาการเจ็บขา และร้องเมื่อมีการเปลี่ยนท่า

ทางทีมสัตวแพทย์รักษาเบื้องต้น โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ ให้ยากินลดปวด ลดอักเสบ ยาป้องกันการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ทายาลดปวดบริเวณขาทั้งสองข้าง พันผ้ายืดบริเวณโคนขาหลังขวาที่มีการบวม ช่วยพยุงให้ลุกยืน เมื่อแสดงอาการยืนเองลำบาก กั้นคอกให้มีพื้นที่น้อยลงเพื่อจำกัดบริเวณให้เดินอย่างเหมาะสม

หลังจากนี้ทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะประสานงานปรึกษาแนวทางการรักษาลูกช้าง กับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาช้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวางแผนหาวิธีที่เหมาะสม เพื่อเตรียมที่จะเข้ารับการผ่าตัดในขั้นตอนต่อไป แต่ยังคงเน้นดูแลลูกช้างให้มีความแข็งแรงมากที่สุด

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ขอความร่วมมือ งดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าใกล้ลูกช้าง เพื่อไม่ให้ลูกช้างเกิดความเครียด หรือเคลื่อนไหวเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการรักษาได้.

แผนที่