โรคฉี่หนู ฟังดูน่ากลัว แต่ป้องกันได้

10 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าว กดติดตาม โซเชี่ยล ระยอง

“โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรซิส” โดยมีภาษาอังกฤษ คือ Leptospirosis เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเกลียวที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ติดได้ทั้งคนและสัตว์ ซึ่งในสัตว์พบในสัตว์ฟันแทะ (เช่น หนู กระรอก) หมู วัว ควาย สุนัข ม้า และสัตว์ป่า โดยที่พบบ่อยที่สุดคือสัตว์ฟันแทะ เชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะหนู หรือฉี่หนูนั่นเอง ทำให้นิยมเรียกชื่อนี้เพื่อให้เข้าใจง่าย

เมื่อปัสสาวะของสัตว์เหล่านี้อยู่ในน้ำหรือดิน สามารถอยู่ได้เป็นสัปดาห์หรือเดือน คนสามารถรับเชื้อได้หลักๆ 2 ทาง คือ จากการสัมผัสกับปัสสาวะ สารคัดหลั่งต่างๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ และจากการสัมผัสกับน้ำ ดิน หรืออาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่มีอาการ 2 วัน ถึง 4 สัปดาห์

อาการและอาการแสดง

โดยอาการจะมีหลากหลาย บางรายก็ไม่ได้มีอาการชัดเจน อาการที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ อาจมีตัวเหลืองตาเหลือง ตาแดงเรื่อยๆ ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือผื่นตามตัวได้

หากเป็นรุนแรงมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจมีอาการสับสน คอแข็ง ปัสสาวะออกน้อย หรือมีภาวะไตและตับวายได้

การวินิจฉัย

เนื่องจากอาการไม่จำเพาะ จึงทำให้วินิจฉัยจากอาการได้ไม่ง่าย การวินิจฉัยโรคฉี่หนูมีหลายวิธี อาทิ การเจาะเลือดเพาะเชื้อ การตรวจทางอิมมูนวิทยา การตรวจโดยวิเคราะห์หาสารพันธุกรรม เป็นต้น

การรักษา

มียารักษาปฏิชีวนะที่รักษา ได้แก่ ด็อกซีไซคลิน และเพนนิซิลิน ซึ่งควรให้ระยะแรกของโรคในผู้ที่มีอาการรุนแรงควรได้ยาฉีด

การป้องกัน มีดังนี้

1. ระวังในการลุยน้ำขัง หรือว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง บึง โดยเฉพาะบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนของปัสสาวะของสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย

2. ระวังการสัมผัสดิน น้ำ หรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อน เช่น อาหารข้างถนน หรือแผงลอยบางแห่ง ซึ่งมีสุขอนามัยไม่เหมาะสม มีหนู หรือสัตว์ต่างๆ อยู่ในบริเวณที่ประกอบอาหาร หรือล้างถ้วยชาม เป็นต้น

ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู แต่กำลังพัฒนาอยู่ อาจจะมีในอนาคต ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป
หากท่านสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคฉี่หนู ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันที

 

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

แผนที่