โรงเรียนสับสนนโยบาย สพฐ.ปรับหลักสูตรใหม่ ส่งผลต้องผลิตหนังสือรายวิชาใหม่
นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ตนได้รับการร้องทุกข์จากเพื่อนครูและผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนมาก กรณีมีสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หลายแห่ง เผยแพร่นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2568 ซึ่งมี 11 ข้อ โดยข้อที่ 5 ระบุเรื่องการปรับปรุงหลักสูตร จนทำให้เกิดความสับสน และเกรงว่าอาจจะเกิดการหยุดชะงักในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนนักเรียน ตามแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ที่ สพฐ.ดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ย่อมส่งผลให้ต้องผลิตหนังสือเรียนรายวิชาต่างๆใหม่ จนอาจทำให้ต้องรอหนังสือเรียนตามหลักสูตรใหม่ และอาจเกิดสุญญากาศในการพัฒนาการเรียนการสอนได้
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการศึกษาและอนุมัติแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สาระสำคัญ คือให้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกัน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง ศธ.ก็ได้มีการประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน โดยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และปัจจุบัน สพฐ.ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่อง
“ใน ศธ.เวลานี้ ก็ยังอยู่ระหว่างตรวจเนื้อหาหนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ต่างๆที่มีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ยังไม่แล้วเสร็จด้วยซ้ำ เกรงว่าเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมทั้ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ รมช.ศธ.ที่เพิ่งเข้ามาเป็น รมต. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริหารงานการศึกษาไม่เป็น เอะอะก็โทษหลักสูตรและหนังสือเรียน จะต้องปรับใหม่” นายสานิตย์กล่าว.