ในหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ติงการใช้คำ “ยถากรรม” ที่ใช้กันในทำนอง “แล้วแต่จะเป็นไป เรื่อยเปื่อย ไร้จุดหมาย ตามลมตามแล้ง…ว่า เพี้ยนไปจากความหมายจริง
สมเด็จอาจารย์ ท่านบอกว่า ความหมายที่ถูกต้อง ยถากรรม… คือตามกรรม ตามปกติใช้ในข้อความที่กล่าวถึงคติหลังสิ้นชีวิต เมื่อเล่าอย่างรวบรัด ทำนองเป็นสำนวนในการสอนให้คำนึงถึงการทำกรรม
ส่วนมากใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาเช่นว่า
“กุลบุตรนั้น เมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในเมืองนั้น ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ก็ไปตามยถากรรม” (คือไปเกิดตามกรรมดีและชั่วที่ตัวได้ทำไว้)
“พระราชาตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญทั้งหลายแล้วไปตามยถากรรม” (ไปเกิดตามกรรมดีที่ได้ทำ)
ข้อความว่า “ไปตามยถากรรม” นี้ เฉพาะในอรรถกถาชาดกอย่างเดียว ก็มีเกือบร้อยแห่ง ในพระไตรปิฎก คำนี้แทบไม่ปรากฏที่ใช้ แต่ก็พบบ้าง 2 แห่ง คือในรัฐปาลสูตร และเฉพาะอย่างยิ่งในอัยยิกาสูตร ที่ว่า
ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า พระอัยยิกาซึ่งเป็นที่รักมากของพระองค์ มีพระชนม์ได้ 120 พรรษา ได้ทิวงคตเสียแล้ว
ถ้าสามารถเอาสิ่งมีค่าสูงใดๆ แลกเอาพระชนม์คืนมาได้ ก็จะทรงทำ
พระพุทธเจ้าตรัสสอน ความจริงของชีวิต ทรงสรุปว่า “สรรพสัตว์จักม้วยมรณ์ เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ทุกคนจักไปตามกรรม (ยถากรรม) เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คนมีกรรมชั่วไปนรก คนมีกรรมดีไปสุคติ
เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมดี
มีบ้างน้อยแห่งที่ใช้ยถากรรมในความหมายอื่น เช่นในข้อความว่า“ได้เงินค่าจ้างทุกวัน ตามยถากรรม (คือตามงานที่ตนธรรม)
เรื่องราวที่อธิบายความหมายของยถากรรม…ยังมีในคำศัพท์ “เวมานิกเปรต”
เปรตอยู่วิมาน ได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางคนข้างแรมเสวยทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางคนกลางคืนเสวยสุข กลางวันเสวยทุกข์
เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมาน มีร่างเป็นทิพย์สวยงาม เวลาเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมานไป และร่างกายก็กลายเป็นน่าเกลียดน่ากลัว (ไม่ได้บอกว่า ต้องเปลี่ยนจากวิมานบนสวรรค์ไปอยู่นรก)
เวมานิกเปรต…สำหรับชาวพุทธไม่ใช่เรื่องแปลก… ผมฟังพระเทศน์จนจำได้มาตั้งแต่ยังเด็ก
แต่สำหรับสวรรค์ ท่านอาจารย์ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) อธิบายไว้ในหนังสือ “คำวัด” ว่า สวรรค์ คือภูมิหรือดินแดนที่มีอารมณ์เลิศด้วยดี
สวรรค์หมายถึงภูมิ หรือโลกของเทวดา อันเป็นภูมิที่มีแต่สิ่งดีงาม ให้แต่สิ่งดีเลิศ ซึ่งล้วนแต่เป็นของทิพย์ ทำให้ผู้ไปเกิดมีแต่ความสุข เป็นภูมิที่เพียบพร้อมไปด้วยกามคุณ 5 คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสชั้นดีเยี่ยมกว่าในโลกมนุษย์
สวรรค์ทั่วไปรู้กันว่า มีอยู่ 6 ชั้น เรียกว่า ฉกามาพจรสวรรค์ ได้แค่ชั้นจตุมหาราช (ท้าวเวสสุวรรณอยู่ชั้นนี้แหละ) ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เรียกการไปเกิดในสวรรค์ว่า ขึ้นสวรรค์
เรื่องของบาปกรรม ตามความเชื่อของชาวพุทธหัวเก่าเป็นเช่นนี้ แต่ชาวพุทธหัวใหม่ เริ่มเชื่อกันว่า สวรรค์ไม่ได้อยู่บนชั้นฟ้าชั้นไหน นรกก็ไม่ได้ตกไปหมกไหม้ที่ชั้นไหน แต่อยู่ในใจเรานี่แหละ
อย่างตอนนี้ มีเสียงพูดถึง สวรรค์ชั้น 14 หนาหู ผมเองก็ไม่รู้ว่าสวรรค์ชั้น 14 ที่เขาว่า คนที่ขึ้นไปอยู่ สุขบ้างทุกข์บ้าง สุขกลางวัน ทุกข์กลางคืน เป็นเหมือนเวมานิกเปรต…หรือไม่? ใครรู้ช่วยบอกมาที.