กราดยิงทำเที่ยวไทยทรุด ต่างชาติเกรงเหตุร้ายซ้ำ

25 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าว กดติดตาม โซเชี่ยล ระยอง

เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ชื่อดัง “ทำให้นักท่องเที่ยวจีนและชาวเมียนมาเสียชีวิต” กำลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ในประเทศจีน “แชร์คลิปเหตุการณ์” จนมีผู้แสดงความคิดเห็นทำนองไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในไทย กลายเป็นชนวนสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการท่องเที่ยว

กระทั่งนำมาสู่นักท่องเที่ยวบางส่วน “ยกเลิกแผนเที่ยวไทย” หลังจากรัฐบาลไทยออกมาตรการวีซ่าฟรีนั้น ดร.กฤษฎา พรหมเวค อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เล่าว่า

เหตุกราดยิงในห้างดังเกิดขึ้นหลัง “รัฐบาล” ประกาศให้ฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถานเพียงสัปดาห์เดียว แน่นอนว่าการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวครั้งนี้ย่อมมีผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นในด้านการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ซ้ำเติมปัญหาทุนจีนสีเทาเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้รับความสนใจมากขึ้น

ถ้าย้อนดูช่วงเกิดกรณี “ทุนจีนสีเทาในไทย” กลุ่มคนไทยบางส่วนต่างรู้สึกไม่พอใจกันอยู่แล้วจนมีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะทำการกวาดล้าง และตรวจสอบกลุ่มคนจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศเข้มงวดมากขึ้น

 

ดร.กฤษฎา พรหมเวค

ถัดมาไม่นานก็มีเหตุ “คดีอุ้มคนจีนเรียกค่าไถ่” อย่างกรณีนักศึกษาชาวจีนวัย 22 ปีถูกคนร้ายชาวจีน 3 คน จับตัวเรียกค่าไถ่ 2.5 ล้านบาทไม่ได้เงินก็ก่อเหตุฆ่ายัดใส่กระเป๋าไปทิ้งในท้องที่ใน จ.นนทบุรี และยังมีตำรวจก่อเหตุอุ้มนักท่องเที่ยวจีนเรียกค่าไถ่สกุลเงินดิจิทัล 330,000 USDT หรือ 10,000,000 บาท ในเขตพื้นที่ สน.ดินแดงอีก

นอกจากนี้มีกรณี “ตำรวจรีดเงินนักท่องเที่ยวจีน 6 หมื่นบาท พกพาบุหรี่ไฟฟ้า” จนถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ “กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนรู้สึกไม่ปลอดภัยในไทยมาระยะหนึ่งแล้ว” แม้จะเป็นความรู้สึกช่วงสั้นๆ แต่ภาพลักษณ์กระแสเชิงลบที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ตลอด

เพราะด้วยในช่วงนั้น “ทหารเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ” ประชาชนต่างคาดหวังต่อการตอบสนองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว หรือการสร้างภาพลักษณ์เรียกความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงที่ดี แต่กลับปล่อยให้เกิดประเด็นทุนจีนสีเทา หรือเหตุอาชญากรรมกับคนจีนอยู่เรื่อยๆ ทำให้ส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นมากกว่าเดิม

หนำซ้ำกลับปรากฏ “เหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต” ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนตอกย้ำสะท้อนให้คนต่างชาติได้เห็นว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ที่ปลอดภัย” สำหรับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวด้วยซ้ำหรือไม่

 

 

ด้วยเท่าที่ติดตามเว็บบอร์ดของจีน “มีการกล่าวถึงเหตุกราดยิงกัน เยอะมาก” กระทั่งกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนจีนเกิดความกลัวที่จะเดินทางมาในไทยสามารถสังเกตจากการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่มุ่งเน้นในมุมมอง “ไม่อยากมาเที่ยวเมืองไทย” เพราะรู้สึกไม่ได้รับความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวสำหรับคนจีน

แม้หลายฝ่ายจะมองว่า “เป็นผลระยะสั้น” แต่สิ่งนี้กำลังสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศไทย “สังเกตจากตัวเลขการจองไฟลท์บินจากจีนลดลง” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิยมเที่ยวกันเองของคนรุ่นใหม่อายุ 20-25 ปี

ทว่าถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้ “รัฐบาลจีนเคยมีนโยบายลูกคนเดียว” ครอบครัวใดมีลูกมากกว่า 1 คนจะถูกปรับ หรือหนักกว่านั้นบังคับให้ทำแท้ง “ก่อนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว” แล้วอนุญาตให้มีลูก 2 คน ได้ในปี 2016

เช่นนี้คนจีนจึงให้ความสำคัญ “ด้านความปลอดภัยต่อบุตรหลาน” แล้วปัจจุบันบรรดาพ่อแม่ก็มักส่งลูกมาเรียนในไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย เพราะมีคุณภาพค่าใช้จ่ายไม่แพง

แต่ด้วยในช่วง 4-5 ปีมานี้ “ประเทศไทย” เกิดเหตุกราดยิงตั้งแต่ปี 2563 เหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ผอ.โรงเรียนกราดยิงชิงทองในเมืองลพบุรี ในปี 2565 อดีตตำรวจกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู และล่าสุดก็มีเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้สิ่งเทียมปืน หรือ Blank Gun ดัดแปลงก่อเหตุกราดยิงในห้างดังอีก

เมื่อประเทศไทยมีเหตุความรุนแรงบ่อยๆ โดยเฉพาะเยาวชน 14 ปี ก่อเหตุแล้วไม่ถูกลงโทษยิ่งทำให้มีข้อสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะตามกฎหมายจีนเยาวชนก่อเหตุร้ายแรงต้องรับโทษเทียบเท่าผู้ใหญ่ทั่วไป ดังนั้น “คนจีนนิยมมาไทย” ย่อมกังวลต่อความปลอดภัยจนหลายคนไม่กล้ามาเที่ยว หรือไม่กล้าส่งลูกมาเรียนด้วยซ้ำ

 

 

ย้ำเรื่องถูกตั้งคำถามมากที่สุดคือ “การซื้อขาย หรือการพกปืน” ซึ่งบนโลกออนไลน์ของจีนต่างนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “จำนวนการครอบครองปืนในไทยสูงที่สุดในอาเซียน” เพราะสามารถหาซื้อขายกันได้ง่ายบนโลกอินเตอร์เน็ตนำไปสู่เยาวชน 14 ปี สามารถพกปืนไปที่สาธารณะโดยเฉพาะในห้างฯได้ไม่ถูกตรวจค้นด้วยซ้ำ

สะท้อนให้เห็นถึง “ความหละหลวมของระบบ” ไม่ว่าจะเป็นการหละหลวมของกฎหมายในการออกใบอนุญาตครอบครองปืน หรือการหละหลวมมาตรการควบคุมปืนนอกระบบ “ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงปืนได้ง่าย” แตกต่างจากจีนค่อนข้างเข้มงวดในด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน

ตามกฎหมาย “ประเทศจีน” เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชน และสังคม ในการป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดเหตุอาชญากรรมรุนแรง “คนทั่วไปจะไม่อาจครอบครองปืนได้ยกเว้นผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงาน” ในส่วนประชาชน พลเรือน หากฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดีหนัก และความผิดนี้ยังเอาผิดกับผู้ผลิต และผู้ขายได้ด้วย

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจิ๊กซอว์เชิงลบทำให้เห็นว่า “ประเทศไทยไม่มีความปลอดภัยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว” ฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลไทยไม่ปรับภาพลักษณ์ หรือดำเนินการกวดขันเกี่ยวกับอาวุธปืนให้เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่ จนก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นแล้วล่ะก็นักท่องเที่ยวอาจเบนเข็มไปเที่ยวประเทศอื่นที่มีความปลอดภัยกว่าก็ได้

ดังนั้นอันดับแรก “รัฐบาลต้องชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเต็มที่” ในการแสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากความสูญเสียนั้น

ถัดมาต้องขับเคลื่อน “ควบคุมอาวุธปืนมากกว่าการไล่จับผู้จำหน่ายดัดแปลงปืน” เพราะเป็นปัญหาปลายเหตุอย่างกรณี “สหราชอาณาจักร” ก็เคยเกิดเหตุกราดยิงที่สาธารณะคล้าย “ประเทศไทย” จนนำไปสู่การควบคุมปืนเข้มงวด “ด้วยรัฐบาลจัดงบประมาณรับซื้อปืนคืนทั้งหมด” นับแต่นั้นก็ไม่เคยเกิดเหตุกราดยิงขึ้นอีก

ตอกย้ำว่า “รัฐบาลไทย” อาจใช้โอกาสนี้จริงจังกับ “การควบคุมอาวุธปืน” เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายไปกว่านี้ โดยเฉพาะบทลงโทษเด็กต่ำกว่า 15 ปี กระทำความผิดร้ายแรงนั้นอาจต้องมีการทบทวนกันใหม่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีกรณีเด็ก และเยาวชนบางคนไม่มีความเกรงกลัวต่อความผิดมักก่อคดีอาญาซ้ำขึ้นอยู่บ่อยๆ

“อย่าลืมว่าเหตุกราดยิงที่สาธารณะในไทยเกิดบ่อยขึ้นและที่ผ่านมามักถอดบทเรียนตลอดแล้วยิ่งครั้งนี้ผู้สูญเสียเป็นต่างชาติอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการปราบปรามอาชญากรรม และตรวจตราพื้นที่สำคัญเข้มงวด เพื่อให้นักท่องเที่ยวอุ่นใจในความปลอดภัย” ดร.กฤษฎา ว่า

 

 

ประเด็นสำคัญ “อาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นในไทย” ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะด้านการท่องเที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่กำลังเป็นปัญหาลุกลามส่งผลกระทบต่อ “ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของต่างชาติ” โดยเฉพาะกระแสด้านการทุจริตคอร์รัปชันในวงหน่วยงานราชการ หรือกรณีคนจีนถูกรีดไถที่ปรากฏเป็นข่าวถี่มากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งช่วงที่ผ่านมากระแสวงการตำรวจเอื้อผลประโยชน์เป็นข่าวค่อนข้างแรงถูกตีแพร่ไปทั่วโลก แน่นอนว่าปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับค่าสินบน “นักลงทุนย่อมขาดความเชื่อมั่น” กระทบเศรษฐกิจภาพรวมประเทศโดยตรง

ปัญหามีว่า “ท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” ในการดำเนินงานด้านนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐคงต้องใช้โอกาสนี้ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม และป้องกันปราบปรามการทุจริต หรือการประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเร็ว

นี่นับเป็นเรื่องสำคัญที่ “รัฐบาลไม่อาจนิ่งนอนใจ” ด้วยประเทศไทยหารายได้กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก “การฟื้นฟูภาพลักษณ์ และสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติกลับคืนมา” ย่อมมีความจำเป็นสูงสุดนะจ๊ะ.

แผนที่