13 นโยบาย สธ.ยกระดับระบบการแพทย์-สาธารณสุขชาติ “Quick Win 100 วัน”
“เราจะยกระดับ “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการพื้นฐานใกล้บ้าน และสำคัญที่สุด การบริการสาธารณสุขจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย”
ตอนหนึ่งของคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566

แน่นอนว่า เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่คนไทยทุกคนเรียกขานกันว่าบัตรทอง และเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวเข้าถึงการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในวงกว้าง
ทันทีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น รมช.สาธารณสุข จึงมีประชุมผู้บริหารกระทรวงเพื่อระดมสมองแปลงนโยบายเข้าสู่แผนปฏิบัติ โดย ประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทพลัส หรือ 30 Baht+ ครอบคลุมทุกมิติสุขภาพ 4 ด้าน ประกอบด้วย การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ และกำหนดเป็นแผนเร่งรัดการปฏิบัติภายใน 100 วันให้เห็นผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมหรือ Quick Win 100 วัน ในแผน 13 เรื่อง ประกอบด้วย


1.โครงการพระราชดำริ/โครงการเฉลิมพระเกียรติ/และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ โครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการราชทัณฑ์ปันสุข สุขศาลาพระราชทาน โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชและโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ 2.การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในเขตเมือง ตั้งเป้า รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล โดยนำร่องในเขตดอนเมือง และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 3.ด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยยาเสพติด 4.มะเร็งครบวงจร โดยคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ และคิกออฟการฉีดวัคซีน HPV ในหญิงไทยอายุ 11-20 ปี พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 พ.ย.2566 ทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้านการป้องกันมะเร็ง โดยจัดตั้งกองทุนมะเร็ง และจัดตั้ง Cancer Warrior

5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร โดยให้มี Care D+Team ในหน่วยบริการทุกระดับเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ลดภาระงาน เพิ่มบุคลากร ผลักดันให้มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็นของกระทรวงสาธารณสุข 6.สถานชีวาภิบาล พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รองรับสังคมผู้สูงอายุและลดภาระบุตรหลาน 7.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกโรค โดยใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงการบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นำร่องเขตสุขภาพที่ 1, 4, 9,12 ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนเข้ารับการรักษาในรพ.สังกัด สธ. ขณะที่การใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาใน รพ.ทุกสังกัด ทั้ง รพ.สธ. รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ทหาร รพ.เอกชน คลินิก และร้านขายยา จะนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด นราธิวาส ซึ่งจะมีการประกาศในวันที่ 24 ต.ค.ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล

8.ส่งเสริมการมีบุตร โดยผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ สร้างความ เข้าใจการมีบุตรเมื่อพร้อม สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม “มีลูก มีแต่ได้” 9.เศรษฐกิจสุขภาพ สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด นำร่องที่ จ.น่าน พัฒนาสู่ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ดูแลสุขภาพครบวงจร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 10.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ ผู้ให้บริการ ระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันเวลา และง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤติอย่างครอบคลุม จัดทีม Sky Doctor ให้ครบทุกเขตสุขภาพ เป็นหลักประกันความปลอดภัย ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว

11.การแพทย์ปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมการดูแลที่บ้านและชุมชน พัฒนาระบบนัดหมายพบแพทย์ ตรวจเลือด รับยาในหน่วยบริการใกล้บ้าน เสริมสร้างอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง และพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล 12.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะและกลุ่มเปราะบาง จะเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ชายแดนชายขอบ พื้นที่เฉพาะ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มอร์แกน กลุ่มไร้รัฐ และกลุ่มเปราะบาง และ 13.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาทั้ง CT Scan/ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ
“การกำหนดแผนเร่งรัดภายใน 100 วัน หรือเรียกง่ายๆว่า Quick Win 100 วัน เพื่อให้นโยบายที่เราประกาศไว้สามารถจับต้องได้ในระยะเวลาที่กำหนด 100 วัน อาจเป็นได้ทั้งผลลัพธ์ขณะที่เราดำเนินการ การเฝ้าระวัง ประเมินผลต่อไป จนเกิดผลสัมฤทธิ์ในตัวนโยบายซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด เรามุ่งเน้นที่ตัวกระบวนการ การใช้ทรัพยากร เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว ถือว่าได้เข้าสู่การดำเนินการแล้ว และตั้งใจที่จะทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ให้เห็นผลในช่วงปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 สำหรับประชาชน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวปิดท้าย

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างระบบสุขภาพที่ดีเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง
จากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นตัวขับเคลื่อนให้ระบบสาธารณสุขไทย พัฒนาก้าวกระโดดไปอีกขั้นโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริม หลายโรงพยาบาลก้าวเข้าสู่โรงพยาบาลที่ใช้ระบบดิจิทัลในหลายส่วนงาน ที่พร้อมจะเดินหน้าต่อ ขณะที่สถานพยาบาลระดับรองๆก็คาดหวังการสนับสนุนจากส่วนกลางที่จะเข้าไปช่วยเร่งรัดการพัฒนา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกัน
การประกาศแผนเร่งรัดปฏิบัติการ Quick Win 100 วัน ให้เห็นผล มีการนำร่องในหลายแผนงานในหลายพื้นที่ เพื่อประเมินผลและขยายให้ใช้ได้ทั่วประเทศในปีต่อๆ ไป เหมือนเป็นการเติมเต็มศักยภาพให้กับระบบสาธารณสุขทุกระดับให้ดีขึ้น
เราคาดหวังว่า 13 นโยบายที่สวยหรูนี้ที่จะช่วยเติมเต็มสุขภาวะให้สังคมไทยอย่างยั่งยืน และจะไม่เป็นแค่เพียงไฟไหม้ฟาง.