หนังสือ “เล่าขานตำนานเครื่องถ้วย จากสุสานโบราณปริศนาเขาถนนธงชัย” ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน ศูนย์อนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาโบราณโรงเรียนถนอมบุตร ถึงมือ นี่คือเรื่องที่ผมอยากรู้มานาน
อ่านไปแล้วบ้าง ไม่ผิดหวัง ชุดความรู้ล่า จากการค้นคว้าวิจัย ไม่ใช่โฆษณาโมเมขายสินค้า
เริ่มต้นปรับจูน ความรู้เดิมๆกันก่อน…จากที่เคยเชื่อกันว่าพ่อขุนรามคำแหง เคยไปเมืองจีน ได้ช่างเครื่องถ้วยจีนกลับมาผลิตเครื่องถ้วยสังคโลกหรือสุโขทัย…นั้น…ไม่ใช่
เจ้าไทยองค์ที่ไปจีน สมัยเป็นพระยุพราช…ที่จริง คือสมเด็จพระนครินทราชาธิราช…จากวงศ์สุพรรณบุรี มีอำนาจเหนืออยุธยา ความจริงที่รู้ต่อมา…เจ้าองค์นี้ก็ไม่เอาช่างถ้วยจีนกลับมา
ถ้างั้น!วิชาเครื่องถ้วยจีน…มาจากเจ้าไหน…มาจากเจ้าจีน ลี้ภัยมาอยู่แคว้นได่เวียตแล้ว ก็มาแถวๆภาคเหนือของไทย
นี่คุยโมเมเหมา…แบบชาวบ้าน ความรู้เป็นวิชาการควรไปหาอ่านจากหนังสือเล่าขานตำนานถ้วยปั้นกันเอง แล้วผมก็ขอเลือกคัดตัดตอน…ข้อเขียนเรื่องเล่าจากหลุมศพ โดยพยานปากเอก ดร.ธันยกานต์ วงษ์อ่อน…ตอนหนึ่ง
ย้อนกลับมาเรื่องถ้วยชามที่พบจากหลุมศพ ผลิตจากกลุ่มเตาหลากหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แต่มีภาชนะอยู่หนึ่งกลุ่มเตา ที่นักขุดและพ่อค้าขายของเก่าพูดถึงเสมอ คือ “ชามข้าวหมา”
ที่มาคำนี้มาจากเครื่องปั้นดินเผาประเภทจานและชาม ที่พบจำนวนมากมาย “มากกว่าทุกกลุ่มเตา”
เครื่องปั้นดินเผากลุ่มนี้ผลิตมาจากกลุ่มเตาสันกำแพงเชียงใหม่ มีลักษณะเคลือบใสหรืออมเขียว
แต่เนื่องจากปริมาณการพบมาก และไม่มีลวดลายสวยงามเหมือนของไม่มีคุณค่า จึงถูกนำไปใช้เป็นภาชนะรองรับอาหารสุนัข ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เครื่องปั้นดินเผากลุ่มนี้ มีอายุไม่ต่ำกว่าหกร้อยปี
ชามสันกำแพงบางใบ มีลักษณะพิเศษ คือเป็นชามขอบปากทรงสูง เมื่อนักขุดกลุ่มชาติพันธุ์ขุดพบขึ้นมาก็เอามาสวมศีรษะ เพื่อกันแดด
พ่อค้าของเก่าจึงตั้งชื่อชามกลุ่มนี้ว่า “หมวกแม้ว”
เนื่องจากรูปทรงของภาชนะที่มีความตั้ง และมีขอบภาชนะที่โค้งเข้ามาคล้ายหมวกสวมศีรษะ เมื่อกลุ่มนักขุดชาติพันธุ์ขุดแหล่งหลุมศพได้ภาชนะทรงนี้ขึ้นมา ก็จะนำมาสวมศีรษะเพื่อป้องกันแดด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
การศึกษาแหล่งที่มาของถ้วยปริศนา ศาสตราจารย์สุรพล ดำริห์กุล ขณะนั้น พ.ศ.2528 เป็นหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 4 ได้สำรวจโบราณสถานเขตรอยต่อตำบลม่อนจองและตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
พบอาณาเขตเมืองโบราณขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์พบกระเบื้องมุงหลังคา เศษเครื่องปั้นดินเผาล้านนา ผลิตจากกลุ่มเตาสันกำแพงปนกับเศษโครงกระดูกมนุษย์ ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า เวียงน้อย หรือเวียงตื่น
เล่ากันว่าเป็นสุสานโบราณของพวกลัวะหรือละว้า
การขุดค้นเพื่อคลี่ปริศนาก็ทำไม่ได้ง่าย เพราะบริเวณนี้เป็นป่าลึก ไม่เพียงเส้นทางเป็นลูกรังขรุขระอันตราย ยังมีสัตว์ป่าน่ากลัว ถ้าไม่มีพรานป่านำทาง ก็อาจหลงทาง
เคยมีนักสำรวจต่างชาติบุกบั่นเข้าไป แต่ออกมาไม่ได้จบชีวิตด้วยไฟป่า จนถึงวันนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้า แหล่งหลุมศพใหญ่ที่พบนั้น เคยเป็นชุมชนหรือบ้านเมืองของกลุ่มชนชาติพันธุ์ใด
ค่อยๆอ่านหาความรู้เรื่องเครื่องถ้วยเมืองเหนือชุดนี้กันไปเรื่อยๆ ผมเองได้ความรู้ใหม่ จากจานลายครามสมัยราชวงศ์หมิง มีลวดลาย “กิเลนเหลียวหลัง ท่ามกลางดอกไม้ก้านขด”
ก็คุ้นๆ แต่ลีลา กิเลน ประลองเชิง มานาน มาเจอลีลา กิเลนเหลียวหลัง จากหนังสือเล่าขานตำนานเครื่องถ้วยฯ เล่มนี้ จึงครึกครื้นชื่นใจเอาเสียจริงๆ.