ข่าวพระราชสำนัก

พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ พ่อแห่งแผ่นดินของปวงประชาราษฎร์

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถ บพิตร “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2566 “ไทยรัฐ กรุ๊ป” ขอร่วมเผยแพร่พระราชกรณียกิจสำคัญในด้านต่างๆ เพื่อน้อมรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

เมื่อต้นรัชสมัย การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงตระหนักว่าสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ประกอบกับสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี มีพระราชปณิธานในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการสาธารณสุขของประเทศ การทรงงานของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในช่วงแรก จึงเน้นเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุข เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า และผลิตยาป้องกันวัณโรค พระราชทานเรือเวชพาหน์ เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ริมแม่น้ำ พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน เพื่อช่วยแพทย์ซักถามอาการผู้ป่วยโรคติดเชื้อโดยการควบคุมจากระยะไกล และช่วยจิตแพทย์ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย เมื่อปี 2503 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อน (ต่อมาในปี 2540 ได้ขยายขอบเขตให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย) การก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อปี 2534 เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคคลและองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อมวลมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ตลอดจนการพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ได้แก่ ทุนภูมิพล ก่อตั้งเมื่อปี 2495 สำหรับพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศิริราชที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุนโปลิโอสงเคราะห์ ก่อตั้งเมื่อปี 2495 ทุนปราบอหิวาตกโรค ก่อตั้งเมื่อปี 2501 และทุนวิจัยประสาท ก่อตั้งเมื่อปี 2503 รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกหน่วยรักษาผู้ป่วย ด้วยพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้โรคระบาดที่เกิดในประเทศไทยในอดีตสงบลง และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในภูมิภาคนี้

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรหลานข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนพระดาบส รวมทั้งทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ เป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ โรงเรียนร่มเกล้า ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กในพื้นที่ชายแดนห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และพระราชทานทุนวิจัยสาขาต่างๆ อาทิ ทุนเล่าเรียนหลวงและทุนอานันทมหิดล สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เรียนดีมีคุณธรรม ทุนนวฤกษ์ สำหรับนักเรียนยากจน และทุนการศึกษาสงเคราะห์ ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทุนพระราชทานเหล่านี้ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลอย่างต่อเนื่อง เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตของชาติ

ด้วยทรงเห็นว่าการให้การศึกษาจะเป็นการสร้างอนาคตของชาติ จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ทั้งในและต่างประเทศสามารถศึกษาหาความรู้ได้ทุกเวลา พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้น เมื่อปี 2506 เพื่อจัดทำหนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงให้เยาวชนได้อ่าน นับแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2559 จัดทำแล้ว 41 เล่ม เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่เหล่าบัณฑิตใหม่เป็นประจำทุกปี ด้วยทรงมุ่งหวังให้บัณฑิตได้นำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งขึ้นไป

ทรงเป็นเสมือน “ครูของแผ่นดิน” ดังจะเห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ต่างสอดแทรกด้วยข้อคิด คติธรรม และปรัชญาชีวิต เพื่อเตือนใจคนไทยให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก สอนเรื่องการบำเพ็ญความเพียร พระราชนิพนธ์เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด สอนเรื่องการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน และพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง สอนเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ

พระราชกรณียกิจด้านศาสนา

ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี 2499 และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน ในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจำฤดูโดยสม่ำเสมอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างพระพุทธนวราชบพิตรขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด เพื่อประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดต่างๆทั่วพระราชอาณาจักร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดา เพื่อพระราชทานเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหารและตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อทำนุบำรุงและปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกเพิ่มเติม และให้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นฉบับภาษาบาลี ฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2530 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการพัฒนาพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกของโลกจนสำเร็จ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กพระราชทานในวันวิสาขบูชา อีกทั้งยังสนพระราชหฤทัยเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรงพระราชอุตสาหะศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เอง และเมื่อครั้งที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) แห่งวัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนก ได้เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยต่อการทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องพระมหาชนก

นับว่าทรงเป็นเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นทุกศาสนาในแผ่นดินไทยทั้งศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร หรือติดตามความก้าวหน้าโครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดประจำชุมชน และพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อการทำนุบำรุงมัสยิด เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับศาสนจักร ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อปี 2503 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมกิจการด้านการแพทย์และการศึกษาขององค์กรคริสต์ศาสนาต่างๆในประเทศไทย พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะพราหมณ์ คณะผู้แทนชาวไทยซิกข์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะพราหมณ์เป็นผู้นำในการประกอบพระราชพิธีสำคัญตามโบราณราชประเพณี.

Tags
13 ตุลาคมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชวันนวมินทสมหาราชในหลวงรัชการที่9

เรื่องอื่นๆ แนะนำต้องดู

Back to top button