ข่าวทั่วไป

สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ ต้นแบบเกษตรอินทรีย์

สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินวังน้ำเขียว อ.น้ำซับ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 มีพื้นที่ 130 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 226 ราย มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง จนผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand แบบ 100% รวมทั้งมีโรงคัดบรรจุผลิตผลเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวบรวมผักอินทรีย์และคัดบรรจุอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร ผ่านการรับรับรอง อย. และได้รับประกาศนีย บัตรหน่วยงานสหกรณ์ที่ใช้โมเดลธุรกิจสหกรณ์ 4.0 ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐาน รากยุค 4.0

“เกษตรกรมีการเพาะปลูกผักอินทรีย์รวมกว่า 120 ชนิด ปลูกหมุนเวียนและเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี แหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำ มีอากาศดี เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชผักส่วนใหญ่ และไม่ค่อยประสบปัญหาภัยแล้ง ผักอินทรีย์ที่ผู้บริโภคนิยมและสร้างผลตอบแทนให้เกษตรกรได้มากที่สุด 10 ชนิดแรก ได้แก่ สลัดโอ๊คแดง สลัดโอ๊คเขียว สลัดคอส กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมใบแดง ผักบุ้งจีน ยอดมะระแม้ว ข้าวโพดหวาน และแตงกวา โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ กสิกรรมไร้สารพิษ วังน้ำเขียว”

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) เผยถึงการจำหน่ายผลผลิตผักอินทรีย์ของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 75 สหกรณ์จะเป็นผู้รับซื้อ โดยมีการประกันราคาในแต่ละช่วงฤดูกาลผลิต จากนั้นสหกรณ์จะรวบรวมนำมาคัดแยกบรรจุที่โรงคัดบรรจุผลิตผลเกษตรอินทรีย์ของสหกรณ์ แล้วส่งให้กับแหล่งรับซื้อสำคัญ ได้แก่ เลมอนฟาร์ม แม็คโคร และบริษัทอื่นๆในเครือสันติ อโศก

ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 25 เกษตรกรจะจำหน่ายโดยตรงให้กับผู้บริโภค พ่อค้ารวบรวมในท้องที่ตลาดเครือข่ายเกษตรกรหรือกลุ่มแปลงใหญ่

สำหรับรายได้จากการจำหน่ายผักอินทรีย์ของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่รายละ 61,127 บาทต่อไร่ มีกำไรรายละ 34,734 บาทต่อไร่ เมื่อคิดเป็นรายได้ของสหกรณ์จากการจำหน่ายผักอินทรีย์จะอยู่ที่ปีละ 8–9 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว จำกัด และเกษตรกรสมาชิก ผู้ปลูกพืชผักอินทรีย์ คือ ความตั้งใจจริงในการที่จะผลิตอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่ออาหารที่ดีมีคุณภาพสู่ผู้บริโภค สหกรณ์ไม่เพียงแต่เป็นตัวกลางในการรวบรวม

ผลผลิตเพื่อจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ยังทำหน้าที่ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน ในโครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านพัฒนาศักยภาพทางด้านการเกษตรของตนและสร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชน ภายใต้การสืบสาน รักษา และต่อยอดกสิกรรมไร้สารพิษ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

Tags
ปลูกผักอินทรีย์สุจารีย์ พิชาเกษตรเกษตรอินทรีย์

เรื่องอื่นๆ แนะนำต้องดู

Back to top button