“ก้าวไกล-ภาค ปชช.” ถก “Sex Worker” จ่อดันร่าง ก.ม.คุ้มครองผู้ให้บริการ
“ก้าวไกล” จับมือภาคประชาชน จัดเสวนา “Sex Worker” เตรียมดันร่างกฎหมายบริการทางเพศฯ คุ้มครองผู้ให้บริการ ย้ำต้องเกิดจากความสมัครใจเท่านั้น หวั่นท่าที พม.หลัง รมว.พม.เคยให้สัมภาษณ์ยังไม่แน่ใจจะหนุนหรือไม่
เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 ที่ The Fort สุขุมวิท 51 (BTS ทองหล่อ) พรรคก้าวไกล ร่วมกับภาคประชาชน จัดเสวนาประเด็นสิทธิและการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ให้บริการทางเพศ Sex worker
โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ภาคประชาชน นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมรณรงค์อิสระด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ, นายปวัน ลีวัจนกุล กลุ่ม Swing Thailand พร้อมด้วยผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.เขตคลองเตย-วัฒนา, นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ สส.เขตยานนาวา-บางคอแหลม และ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
โดย นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ กล่าวว่า อาชีพการบริการทางเพศเป็นหนึ่งในอาชีพสุจริต ที่ใช้เนื้อตัวร่างกายในการหาเลี้ยงชีพและครอบครัว เหมือนกับอีกหลากหลายอาชีพในสังคม แต่กลับเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ทั้งที่เป็นสิทธิมนุษยชนการใช้เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย
“วันนี้ภาคประชาชนที่ได้ขับเคลื่อนรณรงค์เกี่ยวกับการบริการทางเพศมาอย่างยาวหลายปี โดยมีเป้าหมายให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกได้ ภาคประชาชนได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบอาชีพบริการทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค และได้ร่างกฎหมายการบริการและคุ้มครองผู้ให้บริการ เพื่อให้การบริการทางเพศได้รับความคุ้มครอง และสามารถดำเนินอาชีพการบริการทางเพศได้” ศิริศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้เตรียมที่จะยื่นร่างพระราชบัญญัติบริการทางเพศ และคุ้มครองผู้ให้บริการในเนื้อหาดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีอาชีพดังกล่าวได้รับการคุ้มครองให้มีสวัสดิการและประกันสังคม เช่นเดียวกับทุกอาชีพ และมีสิทธิในการใช้อำนาจศาลแรงงาน และตัวบทบัญญัติในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจต่อรองต่อผู้ประกอบการ ใจความสำคัญ คือ ต้องสมัครใจเท่านั้น หากผู้ให้บริการทางเพศรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่เป็นไปตามตกลงสามารถออกจากสถานการณ์ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
“จากสภาชุดที่ผ่านมา ตนได้พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในนามคณะกรรมาธิการกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และส่งร่างดังกล่าวให้กับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการ แต่อย่างไรก็ดีช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมารัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าว เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ประเด็นนี้มีความเห็น 50/50 ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาล รัฐมนตรีจะขยับเรื่องนี้หรือไม่ จะให้ความแน่ชัดต่อประเด็นนี้อย่างไร” นายธัญวัจน์ กล่าว