ข่าวทั่วไป

เตือน “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดหนักป่วยสะสมกว่า 200,000 คน

พอโควิดจาง ก็ได้เวลาของ InFluenza หรือไข้หวัดใหญ่ ที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานตัวเลขผู้ป่วยสะสมมากถึง 216,600 ราย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค บอกว่า สาเหตุที่คนไทยติดเชื้อและป่วยเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีภูมิคุ้มกัน

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ยังน่าเป็นห่วงและไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 216,600 คน มีผู้เสียชีวิต 7 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ “สาเหตุที่ไข้หวัดใหญ่ยังคงมีอัตราการป่วยพุ่งสูงมาจาก 3 ปัจจัย คือ อยู่ในรอบการระบาดฤดูฝน, การสวมหน้ากากอนามัยลดลง ไม่เหมือนในอดีตที่มีโควิดระบาด และปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในร่างกายที่มีมากกว่าโควิด เนื่องจากผลพวงของการติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา คนอาจมีภูมิคุ้มกันโควิด แต่ไม่มีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นกลไลการแข่งขันธรรมชาติของเชื้อไวรัส” นพ.จักรรัฐบอก

อาการของไข้หวัดใหญ่ในรอบการระบาดปัจจุบัน คือ มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปวดศีรษะ และปวดตามร่างกาย หนาวสั่น อ่อนเพลีย คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง และเจ็บคอ ในบางรายอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ รวมถึงหูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วยในบางราย ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะมาก

 

สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วไปคือ สายพันธุ์ A และ B ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A พบบ่อย คือ H1N1, H3N2 ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B พบบ่อย คือ สายพันธุ์ Victoria, Yamagata ส่วนสายพันธุ์ C ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่เกิดการระบาด

ไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับเชื้อที่ปะปนอยู่ในอากาศเมื่อมีผู้ไอหรือจาม การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด เช่น โรงเรียน หรือโรงงาน และยังสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสฝอยละอองในอากาศ เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการใช้มือสัมผัสไปที่พื้นผิวที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ แล้วนำมาสัมผัสที่จมูกและปากเช่นกัน ระยะการฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 1-3 วันโดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อไปได้อีก 3-5 วัน ส่วนการแพร่เชื้อในเด็กสามารถแพร่เชื้อได้ยาวนานถึง 7 วัน

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะที่ 2 หรือ 3 หรือผู้หญิงหลังคลอด 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรคประจำตัว หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน

การรักษาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้ยาโอเซลทามิเวียร์เป็นยาตัวแรก แต่ในญี่ปุ่นก็มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในส่วนของประเทศ ไทยรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาในบัญชีหลักแห่งชาติ และใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ได้ก็สามารถที่จะใช้เป็นยารักษาได้

วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ทำได้หลายวิธีแต่ที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส ตา จมูกและปาก หากพบว่าตนเองป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่สาธารณะและล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ

ส่วนที่มีข่าวในช่วงที่ผ่านมาว่าขาดแคลนยารักษาไข้หวัดใหญ่นั้น ส่วนหนึ่งมาจาก ผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีจำนวนมากขึ้น และคนที่ต้องการกินยาเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นสาเหตุให้ยาอาจไม่เพียงพอ โดยปกติการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์จะใช้ในกลุ่มคนที่มีอาการรุนแรง หรือมีไข้สูง หรือคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ส่วนคนที่ไม่มีอาการสามารถรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ที่เดิมเคยใช้รักษาโควิด-19 หรือยาฟ้าทะลายโจรได้ เพราะสามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสได้เช่นกัน.

Tags
InFluenzaกรมควบคุมโรคข้หวัดใหญ่เชื้อไข้หวัดใหญ่

เรื่องอื่นๆ แนะนำต้องดู

Back to top button